4 วิธีลดค่าเบี้ยประกันสุขภาพโดยไม่ลดความคุ้มครอง

ในยุคที่ความเจ็บป่วยอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น แม้ว่าเทคโนโลยีการแพทย์จะพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ค่ารักษาพยาบาลก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องการได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดในทุกครั้งที่เจ็บป่วย สิ่งที่หลายคนเลือกใช้คือการทำประกันสุขภาพเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านค่ารักษาพยาบาล แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันก็ทำให้หลายคนเริ่มลังเล เพราะบางปีเบี้ยที่จ่ายไปแล้วก็สูญเปล่าหากไม่เจ็บป่วย ไม่ได้เบิกเคลม คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นคือมีวิธีไหนหรือไม่ที่ช่วยให้จ่ายค่าเบี้ยถูกลงโดยไม่ลดความคุ้มครอง ข่าวดีก็คือ “มีครับ” ทำได้โดยเลือกใช้ 4 เทคนิคต่อไปนี้
1. เลือกแผนร่วมจ่าย (Co-pay)
แผนประกันแบบร่วมจ่ายหรือ Co-Payment คือแผนประกันที่คุณในฐานะผู้เอาประกันจะร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา โดยคิดสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น ในกรมธรรม์อาจระบุว่าเป็นแผนร่วมจ่าย 20% หมายความว่าในทุกการรักษา คุณจะต้องจ่ายค่ารักษา 20% และบริษัทประกันจะรับผิดชอบส่วนที่เหลือคือ 80% ไม่ว่าวงเงินค่ารักษาในครั้งนั้นจะเป็นวงเงินเท่าไหร่ก็ตาม
ข้อดีของประกันแบบร่วมจ่ายคือมีค่าเบี้ยถูกกว่าแผนประกันแบบเหมาจ่ายเต็มจำนวน เพราะบริษัทประกันถือว่าคุณแบกรับความเสี่ยงบางส่วนเอง จึงช่วยลดภาระค่าเบี้ยได้ ตัวอย่างเช่น เบี้ยประกันแบบไม่มี Co-pay อาจอยู่ที่ 25,000 บาทต่อปี แต่ถ้าเลือกแบบ Co-pay 20% อาจลดเหลือเพียง 18,000 บาทต่อปี
แผน Co-pay เหมาะกับคนที่มีสุขภาพดี ไม่เข้าโรงพยาบาลบ่อย และต้องการเบี้ยประกันที่ถูกลง รวมถึงเหมาะกับคนที่มีสวัสดิการพื้นฐานจากบริษัทอยู่แล้วเพียงพอที่จะนำมาจ่ายบางส่วนได้ แผนประกันแบบร่วมจ่ายถือว่าคุ้มค่าในระยะยาว เพราะนอกจากจะได้รับการดูแลค่ารักษาพยาบาลส่วนใหญ่โดยค่าเบี้ยถูกกว่าแบบเหมาจ่ายแล้ว ยังกระตุ้นให้คุณดูแลตัวเองเป็นอย่างดี เพื่อให้ไม่เจ็บป่วยง่ายเกินไปและเข้ารับการรักษาเฉพาะเมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

2. เลือกแผนประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายแทนแบบแยกรายการ
แผนประกันสุขภาพมี 2 แบบหลัก ๆ คือแบบเหมาจ่าย และ แบบแยกรายการ โดยแบบแยกรายการจะกำหนดวงเงินแยกย่อยในแต่ละหมวด เช่น หากเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยในหรือ IPD ก็จะแยกเป็นค่าห้อง ค่าแพทย์ ค่ายา ฯลฯ ซึ่งอาจไม่ยืดหยุ่นพอ ซึ่งคุณต้องจ่ายส่วนเกินเองหากค่าใช้จ่ายในหมวดใดหมวดหนึ่งเกินวงเงิน ในทางตรงกันข้าม แบบเหมาจ่ายจะรวมวงเงินทั้งหมดไว้ในก้อนเดียว เช่น คุ้มครองปีละ 1 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นค่าห้อง ค่ายา หรือค่าผ่าตัดก็ตาม นั่นหมายความว่าหากการรักษาอยู่ในวงเงินนี้ คุณก็จะไม่ต้องจ่ายเพิ่ม
แม้ว่าแผนประกันเหมาจ่ายจะมีค่าเบี้ยสูงกว่าแบบแยกรายการ แต่ถ้ามองความจริงที่ว่าเราไม่มีทางรู้เลยว่าในการเจ็บป่วยแต่ละครั้ง ค่าใช้จ่ายแต่ละรายการจะเป็นวงเงินเท่าไหร่ การมีประกันแบบเหมาจ่ายเอาไว้ก็ถือว่าคุ้มค่ามากกว่า เพราะคุณไม่ต้องจ่ายเพิ่ม โดยหากวางแผนเลือกประกันที่ค่าเบี้ยเหมาะกับรายได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้อยู่ที่ประมาณ 10% ของรายได้ต่อปี และนำวงเงินค่าเบี้ยมามองหาประกันแบบเหมาจ่าย ก็จะช่วยให้คุณได้รับการดูแลที่คุ้มค่าในระยะยาว ลดความเสี่ยงที่ค่าใช้จ่ายจะบานปลาย

3. เปรียบเทียบบริษัทประกัน
หลายคนเลือกทำประกันสุขภาพโดยไม่เคยเปรียบเทียบเลย บางคนเลือกทำกับบริษัทเดิมไปตลอดหรือไม่ก็เลือกทำกับบริษัทที่คนรอบตัวแนะนำมา ซึ่งการตัดสินใจแบบนี้อาจทำให้คุณพลาดความคุ้มค่า ฉะนั้นก่อนทำประกันครั้งต่อไป ลองใช้เวลาเพิ่มขึ้นสักนิด เปรียบเทียบแผนประกันจากหลาย ๆ ที่ก่อนตัดสินใจ คุณอาจพบแผนประกันสุขภาพที่มีค่าเบี้ยถูกกว่าโดยได้ความคุ้มครองไม่ต่างจากเดิม ซึ่งการเปรียบเทียบก็ทำได้ไม่ยาก เพราะแทบทุกบริษัทมีเครื่องมือให้ใช้แบบออนไลน์ เพียงแค่กรอกข้อมูลพื้นฐาน (เพศ , อายุ และความคุ้มครองที่ต้องการ) ระบบก็จะมีแผนประกันที่เหมาะกับคุณมาให้เปรียบเทียบ
อย่างไรก็ตาม ในการเปรียบเทียบแต่ละครั้ง อย่าดูเพียงแค่ว่าค่าเบี้ยของบริษัทไหนถูกที่สุด แต่ควรดูว่าแผนนั้นให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง เช่น ค่าห้องรายวัน วงเงินค่ารักษา หรือเงื่อนไขการเคลม เพราะบางแผนที่ถูกกว่าก็อาจแลกมาด้วยข้อจำกัดที่มากขึ้น การเปรียบเทียบที่ดีที่สุดจึงเป็นการตั้งต้นด้วยความคุ้มครองที่ต้องการและมองหาแผนประกันที่ตอบโจทย์ความต้องการของเราได้ในราคาที่ถูกกว่า
บทความ ประกันสุขภาพสำหรับวัยทำงาน เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

4. ต่ออายุให้ตรงเวลา
ประกันสุขภาพคือประกันที่ต้องต่ออายุทุกปี การต่ออายุตามกำหนดถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะทำให้คุณรักษาสิทธิและเงื่อนไขเดิมเอาไว้ได้ หากคุณปล่อยให้กรมธรรม์ขาดช่วงแม้เพียงวันเดียว บริษัทประกันอาจถือว่าคุณยกเลิกความคุ้มครอง และหากคุณต้องการกลับมาซื้อใหม่ อาจต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมด เช่น ตรวจสุขภาพ ประเมินความเสี่ยง และที่สำคัญคือค่าเบี้ยอาจสูงขึ้น
การต่ออายุตรงเวลาไม่เพียงช่วยให้คุณรักษาเงื่อนไขที่ดีไว้ได้เท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดข้อยกเว้นใหม่ ๆ เช่น หากคุณมีโรคประจำตัวเกิดขึ้นระหว่างที่กรมธรรม์ขาดช่วง บริษัทอาจไม่คุ้มครองในครั้งต่อไป วิธีหนึ่งที่ช่วยให้ไม่ลืมต่ออายุคือการตั้งแจ้งเตือน (Reminder) เอาไว้ เมื่อใกล้ครบกำหนดก็รีบติดต่อประกันเพื่อทำการต่ออายุให้ได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องในเงื่อนไขที่คุ้มค่า
การทำประกันสุขภาพ เป็นเครื่องมือที่เหมาะอย่างยิ่งกับการรองรับความเสี่ยงในยุคปัจจุบัน คุณคงเห็นแล้วว่าการจ่ายเบี้ยถูกลงโดยความคุ้มครองไม่ต่างไปจากเดิมคือสิ่งที่ทำได้ เพียงแค่เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการเลือกเทคนิคที่เหมาะกับตัวเองและมองหาแผนประกันที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองให้ได้มากที่สุด
ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ