วิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเองเช็กอาการเบื้องต้น เมื่อรถไฟฟ้า EV เกิดปัญหาขัดข้อง

รถยนต์ไฟฟ้า หรือที่เรียกันว่า รถ EV กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเนื่องด้วยข้อดีด้านความประหยัดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถึงกระนั้นรถยนต์ไฟฟ้าก็ยังเกิดปัญหาขัดข้องจากการใช้งานซึ่งเป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาชาร์จไฟไม่เข้า รถสตาร์ตไม่ติด แบตเสียไว ราคาแบตเตอรี่แพง หรือสัญญาณเตือนต่าง ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งเจ้าของรถควรรู้วิธีสังเกตอาการผิดปกติของรถเพื่อสามารถที่จะตรวจสอบด้วยตนเองเบื้องต้นได้ ทั้งนี้ความรู้เหล่านี้ควรมีไว้เพื่อให้เป็นแนวทางการป้องกันความเสียหายที่อาจจะมากขึ้นได้ในอนาคต เพราะหากมีอาการแล้วเจ้าของรถไม่ทราบว่ามันคือความผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้น นั่นอาจหมายความว่าคุณอาจจะต้องจ่ายค่าซ่อมที่แพงขึ้นไปอีก บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับสัญญาณเตือน วิธีเช็กระบบพื้นฐาน และข้อควรระวังเมื่อต้องจัดการปัญหารถ EV ด้วยตัวเอง
1. สัญญาณเตือนเมื่อรถยนต์ไฟฟ้ามีปัญหา ที่ควรสังเกตทันที
รถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่มักมีระบบเซ็นเซอร์และไฟเตือนบนหน้าปัดที่ช่วยชี้บ่งอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในตัวรถยนต์ หากเจ้าของรถพบสัญญาณเหล่านี้ ควรหยุดรถและตรวจสอบทันที ได้แก่
- ไฟเตือนรูปแบตเตอรี่ หมายถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแบตเตอรี่ เช่น การชาร์จ หรือแบตเตอร์รี่ใกล้หมด เป็นต้น
- ไฟเตือนระบบขับเคลื่อน บ่งชี้ปัญหาเกี่ยวกับระบบส่งกำลังไฟฟ้า
- ไฟเตือนอุณหภูมิสูง แสดงว่าระบบแบตเตอรี่ หรือมอเตอร์ทำงานมีความร้อนสูงผิดปกติ
- อัตราการสิ้นเปลืองไฟผิดปกติ หากแบตเตอรี่ลดลงรวดเร็วผิดปกติ อาจมีการรั่วไหลของพลังงาน
การสังเกตสัญญาณเหล่านี้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่รุนแรงขึ้นได้
2. วิธีเช็กระบบแบตเตอรี่และการชาร์จเบื้องต้น
หากพบปัญหาเกี่ยวกับแบตเตอรี่หรือระบบชาร์จ มีวิธีการตรวจสอบเบื้องต้นดังนี้
- ตรวจสายชาร์จ เช็กว่าสายไฟอยู่ในสภาพดี ไม่มีรอยขาดหรือไหม้
- เช็กขั้วต่อ ตรวจสอบว่าขั้วต่อสายชาร์จแนบสนิทกับพอร์ตชาร์จหรือไม่
- สังเกตเสียงหรือกลิ่นผิดปกติ หากได้ยินเสียงแปลกๆ หรือได้กลิ่นไหม้ ให้หยุดชาร์จทันที
- ดูสถานะการชาร์จจากแอปพลิเคชัน หลายรุ่นมีแอปที่เช็กสถานะแบตเตอรี่ได้แบบเรียลไทม์

3. รถ EV สตาร์ตไม่ติด ตรวจสอบตรงไหนก่อน
การสตาร์ตรถยนต์ EV จะไม่เหมือนกับรถยนต์ทั่วไป เพียงแค่กดเปิดสวิตซ์ก็สามารถที่จะขับเคลื่อนได้ในทันที ดังนั้นถ้าหากรถ EV ของคุณเปิดสวิตซ์แล้วรถไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ มีวิธีในการตรวจสอบดังนี้
- บนหน้าปัดรถยนต์มีสถานะไฟต่าง ๆ ขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่มีการแจ้งเตือนใด ๆ บนหน้าปัด นั่นเพราะหากแบตเตอรี่หมด จะทำให้เปิดระบบต่าง ๆ ไม่ได้ ซึ่งหมายรวมถึงการแสดงหน้าจอ และรวมถึงทำให้รถไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
- เช็กฟิวส์สตาร์ต หากฟิวส์ขาดจะทำให้รถสตาร์ตไม่ติด ต้องเปลี่ยนฟิวส์ใหม่
- ตรวจสอบขั้วแบตเตอรี่ว่าสะอาดและแน่นหรือไม่ หากมีคราบสกปรกให้ทำความสะอาดด้วยแปรง
- บางครั้งระบบ Keyless Entry มีปัญหาส่งผลให้ไม่สามารถสตาร์ตรถได้
- เช็กเบรกมือ เพราะบางครั้งหากเหยียบคันเร่งแล้วรถไม่ไป อาจเพราะติดเบรกมือก็เป็นได้
หากทดลองทำตามขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้นและยังไม่สามารถสตาร์ตรถติด หรือไม่สามารถขับขี่ได้ ให้แจ้งศูนย์บริการทันที
4. ปัญหาการชาร์จไม่เข้า เกิดจากอะไร และแก้อย่างไร
หากเสียบสายชาร์จแล้วแต่แบตเตอรี่ไม่เพิ่ม หรือชาร์จไม่เข้า อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น
- สายชาร์จหรือหัวชาร์จเสีย ให้ทดสอบกับสถานีชาร์จอื่นหรือลองเปลี่ยนสายชาร์จดู
- ระบบ BMS (Battery Management System) ทำงานผิดปกติ ต้องให้ช่างเช็กระบบควบคุมแบตเตอรี่
- สถานีชาร์จมีปัญหา ตรวจสอบว่าสถานีใช้งานได้ปกติหรือมีประกาศซ่อมบำรุง
- พอร์ตชาร์จมีสิ่งสกปรกอุดตัน เช่น ฝุ่น หรืออาจเกิดจากความชื้น ทำให้การเชื่อมต่อไม่สมบูรณ์
ในเบื้องต้นควรลองเช็กสายและพอร์ต ถ้าไม่หายแนะนำให้ติดต่อศูนย์บริการเพื่อป้องกันการชำรุดเพิ่มเติม

5. ข้อควรระวังเมื่อซ่อมรถไฟฟ้าด้วยตัวเอง
แม้การแก้ปัญหาเบื้องต้นจะทำได้ แต่การซ่อมระบบไฟฟ้าของรถยนต์ EV มีความเสี่ยงสูงหากต้องลงมือทำด้วยตนเอง มีข้อควรที่ระวังดังนี้
- ห้ามถอดแบตเตอรี่เอง เพราะแบตเตอรี่รถ EV เป็นแบตเตอรี่แรงดันสูง อาจเกิดไฟฟ้าช็อตถึงชีวิตได้
- ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้า เช่น ถุงมือและรองเท้าเพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด
- บางรุ่นมีการสำรองพลังงานที่อาจปล่อยไฟฟ้าแม้ดับรถแล้ว เช่น ระบบไฮบริด
- ห้ามใช้อุปกรณ์ผิดประเภท เช่น ประแจที่ไม่ใช่แบบฉนวนไฟฟ้า หรือมีฉนวนหุ้ม
หากไม่มีความเชี่ยวชาญ แนะนำให้จำกัดการซ่อมแค่การเช็กเบื้องต้นเท่านั้นแล้วค่อยเรียกช่างที่ชำนาญหรือติดต่อไปยังศูนย์บริการเพื่อทำการซ่อมต่อไป
6. เมื่อไหร่ควรเรียกศูนย์บริการหรือติดต่อช่างผู้เชี่ยวชาญ
ในสถานการณ์ที่รถยนต์ไฟฟ้ามีปัญหาและไม่สามารถซ่อมแซมหรือตรวจเช็กด้วยตนเองได้ ควรเรียกช่างหรือเข้าศูนย์บริการทันทีหากเกิดเหตุการณ์ต่อไปนี้
- ไฟเตือนระบบไฟฟ้าแรงสูงขึ้นค้าง
- ได้กลิ่นเหม็นไหม้จากแบตเตอรี่หรือมอเตอร์
- มีเสียงผิดปกติระหว่างขับขี่ เช่น เสียงกึกกักจากใต้ท้องรถ
- ระบบขับเคลื่อนหรือเบรกไฟฟ้าไม่ตอบสนอง
- รถเกิดการช็อตไฟฟ้า หรือมีน้ำรั่วเข้าระบบแบตเตอรี่
การรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะช่วยลดความเสี่ยงอันตรายและค่าใช้จ่ายในการซ่อมระยะยาวได้
แม้ว่าระบบรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ซับซ้อนเหมือนกับรถยนต์ทั่วไป สาเหตุที่ทำให้รถวิ่งไม่ได้หรือสตาร์ตไม่ติด มักเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับแบตเตอรี่รถยนต์ การเช็กและแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเมื่อรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV มีปัญหานั้นทำได้ไม่ยาก หากรู้จักสังเกตสัญญาณเตือนและตรวจสอบอย่างถูกวิธี แต่การซ่อมระบบไฟฟ้าแรงสูงด้วยตนเองยังคงต้องใช้ความระมัดระวังสูงสุด ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณและยานพาหนะ หากมีข้อสงสัยหรือพบปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ควรรีบติดต่อศูนย์บริการหรือช่างผู้เชี่ยวชาญทันที
บทความ 15 ข้อดีและข้อเสียของรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ มาเช็กกันเลย