ประกันสังคมช่วยค่าคลอดบุตรเท่าไหร่? เช็กสิทธิ์ก่อนใช้

ปัจจุบันหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คู่รักมากมายเลือกไม่มีลูกนั่นเพราะมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุตร เพียงแค่ตั้งครรภ์ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเสียค่าฝากครรภ์ ค่าตรวจสุขภาพ และค่าพบแพทย์อยู่ที่ประมาณเดือนละ 1,500 – 2,000 บาท ส่วนค่าทำคลอดเริ่มต้นที่ประมาณ 5,000 – 15,000 บาท กรณีฝากครรภ์และทำคลอดในโรงพยาบาลรัฐบาล หากเลือกฝากครรภ์และทำคลอดโรงพยาบาลเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าหลายเท่า ส่วนหลังคลอดก็ยังมีค่าใช้จ่ายอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ค่าอุปกรณ์สำหรับเด็ก , ค่าฉีดวัคซีน , ค่ารักษาพยาบาล , ค่าเล่าเรียน ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ประกันตนของประกันสังคมไม่ต้องกังวล เพราะสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ ส่วนจะเบิกได้เท่าไหร่ เบิกอย่างไร เรามีคำตอบมาฝาก
ค่าคลอดบุตรที่สามารถเบิกได้
ผู้ประกันตนที่มีสิทธิ์เบิกค่าคลอดบุตรจากสำนักงานประกันสังคม คือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่คุณแม่ผู้ประกันตนต้องคลอดบุตร ซึ่งกรณีทั้งคุณแม่และคุณพ่อเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมทั้งคู่ ต้องเลือกใช้สิทธิ์เบิกของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น ไม่สามารถใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้ทั้งสองคน สำหรับค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรที่ผู้ประกันตนของประกันสังคมสามารถเบิกได้มีดังนี้
- ค่าฝากครรภ์ ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 สามารถเบิกค่าฝากครรภ์ได้ตามจริง ไม่เกิน 1,500 บาท โดยแบ่งการจ่ายค่าฝากครรภ์ทั้งสิ้น 5 ครั้ง ได้แก่
- ครั้งที่ 1 จ่ายตามจริงสูงสุดไม่เกิน 500 บาท เมื่อทารกในครรภ์อายุไม่เกิน 12 สัปดาห์
- ครั้งที่ 2 จ่ายตามจริงสุงสุดไม่เกิน 300 บาท เมื่อทารกในครรภ์อายุ 12 – 20 สัปดาห์
- ครั้งที่ 3 จ่ายตามจริงสูงสุดไม่เกิน 300 บาท เมื่อทารกในครรภ์อายุ 20 – 28 สัปดาห์
- ครั้งที่ 4 จ่ายตามจริงสูงสุดไม่เกิน 200 บาท เมื่อทารกในครรภ์อายุ 28 – 32 สัปดาห์
- ครั้งที่ 5 จ่ายตามจริงสูงสุดไม่เกิน 200 บาท เมื่อทารกในครรภ์อายุ 32 – 40 สัปดาห์

- ค่าคลอด สำนักงานประกันสังคมกำหนดเหมาจ่ายสูงสุดที่ 15,000 บาท ต่อการคลอดหนึ่งครั้ง โดยไม่มีการกำหนดจำนวนครั้งในการใช้สิทธิ์เบิกค่าคลอดจากสำนักงานประกันสังคม
- เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร สำนักงานประกันสังคมให้สิทธิ์แก่ผู้ประกันตนหญิงมาตรา 33 โดยได้รับอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ่ายเฉลี่ยระยะเวลา 90 วัน แต่ทั้งนี้สามารถเบิกเงินสงเคราะห์ได้เฉพาะบุตรคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น บุตรคนที่ 3 ขึ้นไปไม่สามารถเบิกสิทธิ์เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรได้
วิธีขอรับเงินค่าคลอด
การขอเบิกเงินค่าคลอดจากสำนักงานประกันสังคม ผู้ประกันตนต้องไปยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด สำนักงานประกันสังคมสาขาที่อยู่ในพื้นที่พักอาศัย ยกเว้นสาขาสำนักงานที่กระทรวงสาธารณสุข แต่หากใครที่ไม่สะดวกเดินทางไปสำนักงานประกันสังคมด้วยตัวเอง สามารถยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-self services (https://www.sso.go.th/eservices/esv/) ของเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมได้เช่นกัน สำหรับการยื่นเอกสารมีขั้นตอนการยื่นเรื่องตามขึ้นตอนดังต่อไปนี้

- ผู้ประกันตนที่เป็นผู้ใช้สิทธิ์กรอกข้อมูลในแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนหรือแบบ สปส. 2 -01 ให้ถูกต้องและครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อ
- ยื่นเอกสารประกอบคำร้อง ได้แก่ ใบเสร็จรับเงินค่าฝากครรภ์ , สำเนาสูติบัตรของบุตร , สำเนาบัตรประชาชนของฝ่ายที่ใช้สิทธิ์ , สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของฝ่ายที่ใช้สิทธิ์ และสำเนาทะเบียนสมรสกรณีฝ่ายชายเป็นผู้ใช้สิทธิ์ หรือหนังสือรับรองการเป็นบุตรโดยชอบทางด้วยกฎหมายกรณีคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
- รอผลพิจารณาจากสำนักงานประกันสังคม
- หากได้รับการอนุมัติเงินค่าคลอดและค่าฝากครรภ์ สำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารออมทรัพย์ตามที่ผู้ใช้สิทธิ์แจ้งตอนยื่นเอกสาร ซึ่งตามปกติแล้วจะได้รับเงินภายในเวลา 5 – 7 วันหลังจากได้รับอนุมัติจากสำนักงานประกันสังคม
บทความ ทำประกันสุขภาพเด็กให้ลูกดีไหม
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับสิทธิ์เบิกค่าคลอดจากสำนักงานประกันสังคมของผู้ประกันตนที่เรานำฝาก ซึ่งจะเห็นว่าประกันสังคมดูแลผู้ประกันตนตั้งแต่ก่อนคลอด ระหว่างคลอด และหลังคลอด ซึ่งนอกจากค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรแล้ว ผู้ประกันตนยังสามารถเบิกเงินสงเคราะห์เพื่อเลี้ยงดูบุตรจำนวน 800 บาทต่อเดือน โดยเบิกได้ตั้งแต่ลูกเกิดถึงอายุ 6 ขวบ แต่สามารถใช้สิทธิ์เบิกเงินสงเคราะห์เพื่อเลี้ยงดูบุตรไม่เกิน 3 คน