มาทำความรู้จัก สายพันธุ์ชาเขียวมัทฉะจากญี่ปุ่นมีกี่ชนิด

ท่ามกลางกระแสมัทฉะฟีเวอร์ซึ่งกำลังเป็นไวรัลดังอยู่ในขณะนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามัทฉะเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเหมาะกับไลฟ์สไตล์ทันสมัยของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง แม้ปัจจุบันจะสามารถหาซื้อผงมัทฉะญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น แต่ทว่าการตัดสินใจเลือกซื้อให้ตรงกับความชอบนั้นบางครั้งก็เป็นเรื่องยากเนื่องจากผงชาเขียวมัทฉะที่วางจำหน่ายมีอยู่ด้วยกันหลายประเภทโดยแต่ละประเภทต่างให้คุณสมบัติของเนื้อสัมผัส , สี , กลิ่น และรสชาติที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดความแตกต่างดังกล่าวนั้น นั่นคือ ‘สายพันธุ์ของชาเขียวมัทฉะ‘

เนื่องจากใบชาที่ได้มาจากต้นชาแต่ละสายพันธุ์นั้นจะเป็นตัวบ่งบอกคุณภาพ และสะท้อนเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของมัทฉะแต่ละชนิดไม่ว่าจะเป็นความหวาน ความขม หรือความอูมามิของรสชาติ รวมทั้งความเข้มหรืออ่อนของสี ตลอดจนกลิ่นซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการกระตุ้นประสาทรับรู้ในการดื่มชา ดังนั้นเหล่ามัทฉะเลิฟเวอร์ทั้งหลายจึงควรทำความรู้จักกับสายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ของชาเขียวมัทฉะเพื่อจะได้เลือกซื้อชาเขียวที่มีคุณลักษณะด้านกลิ่น,  รส , สี และเนื้อสัมผัส ได้ตรงกับความชื่นชอบ และสามารถนำไปใช้ประกอบอาหารได้อย่างเหมาะสมกับเมนูประเภทต่าง ๆ เช่น เพียว ,  ลาเต้ , สมูทตี้ , เบเกอรี่ , ขนม , อาหาร เป็นต้น

ประเทศญี่ปุ่นมีสายพันธุ์ชาเขียวมากมายหลายร้อยชนิด แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่เหมาะสำหรับการนำมาทำมัทฉะ โดยสายพันธุ์ซึ่งเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น ได้แก่

Yabukita  

ด้วยสมดุลที่ลงตัวระหว่างรสชาติและกลิ่นหอม ทำให้ชาเขียวสายพันธุ์นี้ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศญี่ปุ่นโดยขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ราชาแห่งชาเขียวญี่ปุ่น’ ซึ่งนอกจากจะมีกลิ่นเฉพาะตัวที่หอมสดชื่นแบบหญ้าเขียวแล้ว Yabukita ยังให้รสชาติกลาง ๆ กลมกล่อม ไม่ขมจัด ไม่หวานจัด ดื่มง่าย เหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบรสแท้จากธรรมชาติของชาเขียว สีของมัทฉะที่ได้จะออกแนวโทนสีเขียวมรกตสดใส นิยมปลูกในพื้นที่จังหวัดชิซูโอกะ , เกียวโต และคะโงะชิมะ 

Okumidori 

โดดเด่นด้วยสีเขียวเข้มซึ่งมาพร้อมกับความกลมกล่อมของรสชาติที่ให้รสหวานอูมามิ ไม่ฝาดและไม่ขม มีกลิ่นหอมลึก ให้ความรู้สึกละมุนลักษณะคล้ายกลิ่นถั่ว ผสมกับความสดชื่นจากกลิ่นหญ้าเขียว เหมาะสำหรับคนที่ชอบชาบอดี้แน่น ๆ มีรสชาติกลมกล่อม เข้มข้น แต่ไม่ขมหรือไม่เขียวจัด นิยมใช้ในการผลิตมัทฉะเกรดสูงโดยสามารถนำไปทำเครื่องดื่มได้ทั้งร้อนและเย็นโดยเฉพาะเมนูลาเต้ ส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่เกียวโต , อูจิ และคะโงะชิมะ

Saemidori  

ชื่อ Saemidori นั้นบ่งบอกถึงสีเขียวสดใสของน้ำชาอันเป็นคุณลักษณะพิเศษของสายพันธุ์ชนิดนี้ซึ่งเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง Yabukita และ Asatsuyu จึงทำให้มีรสชาติเข้มข้น กลมกล่อม นุ่มละมุน และไม่ขม (อาจพบเจอความฝาดบ้างแต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น) นอกจากนี้ใบชาอ่อนของ Saemidori ยังอุดมไปด้วยกรดอะมิโนจำนวนมากส่งผลให้ชามีรสชาติหวานจากธรรมชาติซึ่งต่างจากรสหวานแบบชาคั่วทั่วไป ส่วนกลิ่นจะมีความอูมามิที่ออกแนวหวานผสมผสานความสดชื่นจากกลิ่นหญ้าสด แทรกด้วยกลิ่นนม ถั่ว และกลิ่นอ่อน ๆ ของผลไม้เมืองร้อน เหมาะสำหรับคนที่ชอบชารสหวาน หอม นวลละมุน นิยมปลูกในพื้นที่คะโงะชิมะ

Samidori  

อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูง Samidori เป็นมัทฉะพิธีการเกรดพรีเมียมซึ่งมักจะใช้ในพิธีชงชาตามแบบวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมเนื่องจากชาสายพันธุ์นี้ให้กลิ่นหอมอ่อน ๆ สไตล์ญี่ปุ่นคลาสสิก ทั้งยังมีรสชาติอูมามิเข้มข้น กลมกล่อม หวานตามธรรมชาติ และเจือความฝาดเล็กน้อย ขณะชงจะได้ลักษณะครีมมี่จากเนื้อชา เหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบชาญี่ปุ่นแท้ซึ่งมีรสเข้มข้นแบบดั้งเดิม นิยมปลูกที่เมืองอุจิ จังหวัดเกียวโต 

Ujihikari  

สายพันธุ์นี้จะให้มัทฉะที่มีรสชาติอ่อน ไม่เข้ม ไม่ขม แต่สมดุลครบทั้งความคม และความนุ่มละมุน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของถั่ว เหมาะสำหรับคนที่ชอบมัทฉะรสชาติกลาง ๆ ไม่จืดแต่ก็ไม่เข้มข้นจัดจ้านจนเกินไปนัก นิยมนำไปทำขนม อาหาร หรือผสมในเครื่องดื่ม 

Gokou  

เป็นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างบอบบาง และต้องใส่ใจระมัดระวังในการดูแล ทำให้มีปริมาณการเพาะปลูกน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น แต่ด้วยคุณภาพซึ่งมาพร้อมกับรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์จึงนิยมนำไปทำมัทฉะพิธีการเพื่อใช้ในพิธีชงชา  โดย Gokou ให้รสชาติเข้มข้น ลึก หนักแน่น และมีความอูมามิ ส่วนกลิ่นนั้นมีความผสมผสานระหว่างกลิ่นซุปดาชิกับกลิ่นถั่ว ทั้งยังมีกลิ่นคล้ายนมผงจากลักษณะครีมมี่ของเนื้อชาด้วย เหมาะสำหรับสายชาโบราณที่ชื่นชอบความลึกของรส และนิยมนำไปทำเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนม เช่น ลาเต้ เป็นต้นแม้มัทฉะจะเป็นที่นิยมในวงกว้างและมีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือก แต่ส่วนใหญ่แล้วคนไทยยังคงชอบมัทฉะที่มีกลิ่นหอมนวลละมุน มีความอูมามิ รสชาติหวานธรรมชาติ ไม่ขม ไม่ฝาด นำมาชงกับนมแล้วไม่รู้สึกจืด ดังนั้นสายพันธุ์ที่สามารถตอบโจทย์ความชอบของมัทฉะเลิฟเวอร์ชาวไทยได้ดี คือ ‘Saemidori’ ซึ่งเป็นตัวท็อปในขณะนี้ รองลงมาคือ Okumidori และ Yabukita สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วงการมัทฉะ หากยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกซื้อแบบไหนดี ลองเริ่มต้นจากสามสายพันธุ์ดังกล่าวข้างต้นนี้ก็น่าจะไม่ผิดหวังค่ะ