Post Views: 45
จ่ายประกันไม่ไหวทำอย่างไร
หากพูดถึงเหตุผลที่ทำให้หลายคนตัดสินใจทำประกัน หากเป็นประกันชีวิต คนส่วนใหญ่ก็ทำเพราะเป็นความมั่นคงทางการเงิน มีเงินก้อนให้คนข้างหลังเมื่อเราไม่อยู่แล้ว หากเป็นประกันสุขภาพ เหตุผลสำคัญก็คือต้องการได้รับการดูแลอย่างดีเมื่อเจ็บป่วย ซึ่งไม่ว่าคุณจะเลือกทำประกันประเภทไหน สิ่งสำคัญคือการส่งเบี้ยประกันตามอายุสัญญา สำหรับหลายคน แม้ว่าจะวางแผนการเงินอย่างดีแล้ว แต่เหตุไม่คาดฝันก็อาจเกิดขึ้นจนทำให้จ่ายเบี้ยไม่ไหว ซึ่งถ้าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณ ก็ไม่ต้องกังวลครับ เพราะวันนี้เรามีทางออกมาให้ โดยจะแบ่งการจ่ายเบี้ยไม่ไหวออกเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่ระยะสั้นที่จัดการง่ายไปจนถึงระยะถาวรซึ่งอาจต้องยกเลิกการทำประกัน
เมื่อจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหวในระยะสั้น
หากปัญหาทางการเงินของคุณไม่รุนแรงมาก เป็นเพียงแค่เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันแล้วพบว่าเงินไม่พอจ่าย แต่ยังรู้สึกว่าในที่สุดเราจะสามารถจัดการจ่ายได้ ถ้าเป็นแบบนี้ สองวิธีต่อไปนี้ช่วยคุณได้:
- 1. ผ่อนผันการชำระเบี้ยประกัน
นี่คือวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด แต่เราเชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่รู้ โดยเมื่อถึงเวลาชำระเบี้ยแล้วเงินไม่พอจ่าย ผู้เอาประกันมีเวลาขอผ่อนผันได้ 31 วัน ซึ่งถ้ามั่นใจว่าในระยะเวลาดังกล่าวสามารถจัดการจ่ายค่าเบี้ยได้ ก็แนะนำให้เลือกใช้วิธีนี้ เพราะความคุ้มครองยังคงอยู่เหมือนเดิม หากเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์ก็ยังคงได้รับเงินโดยหักค่าเบี้ยประกันค้างชำระออกไป อย่างไรก็ตาม หากครบกำหนดแล้วจ่ายเบี้ยไม่ได้ ประกันจะขาดอายุทันที (ในกรณีที่เป็นประกันซึ่งไม่มีค่าเวนคืน)
- 2. เปลี่ยนงวดการชำระเบี้ยประกัน
วิธีนี้เหมาะกับคนที่เดิมเคยจ่ายเบี้ยประกันแบบรายปี แต่เมื่อถึงบางปีก็รู้สึกว่าเป็นเงินก้อนใหญ่เกินไปทำให้จ่ายไม่ไหว หรือมีเหตุให้เก็บเงินก้อนตามจำนวนไม่ได้ เมื่อเป็นแบบนี้ เราสามารถขอเปลี่ยนเป็นแบ่งจ่ายรายเดือน รายสามเดือน หรือรายหกเดือนได้ ซึ่งอีกรูปแบบที่ช่วยจัดการจ่ายเบี้ยให้เราได้และหลายคนนิยมทำคือชำระเบี้ยรายปีด้วยบัตรเครดิต โดยเลือกบัตรที่ให้ผ่อนได้แบบ 0%
เมื่อจ่ายเบี้ยไม่ไหวในระยะยาว
หากปัญหาทางการเงินมากขึ้นอีกระดับจนทำให้รู้สึกว่าเบี้ยประกันที่จ่ายอยู่ในขณะนี้จะเป็นปัญหาในระยะยาว แต่ก็ยังคงต้องการความคุ้มครอง หรืออาจแค่ต้องการลดรายจ่ายโดยเบี้ยประกันยังคงเป็นรายจ่ายที่ไม่ถูกตัดออก ถ้านี่คือเงื่อนไขของคุณ 3 วิธีต่อไปนี้ช่วยคุณได้ โดยแต่ละวิธีจะเหมาะกับรูปแบบประกันหรือความต้องการที่แตกต่างกัน
- 1. ยกเลิกสัญญาเพิ่มเติมแนบท้าย
วิธีนี้จะเหมาะกับคนที่ทำประกันสุขภาพและซื้อแพคเกจความคุ้มครองเพิ่มเติมเอาไว้ (เช่น ความคุ้มครองโรคร้าย) หากรู้สึกว่าจ่ายเบี้ยปัจจุบันไม่ไหว ลองพิจารณากรมธรรม์ประกันที่มีอยู่ว่ามีสัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายอะไรหรือไม่ หากมีและพบว่าเป็นปัญหา การยกเลิกส่วนนั้นไปให้เหลือแค่ความคุ้มครองพื้นฐานก็เป็นทางออกที่น่าสนใจ เพราะจะไม่กระทบกับสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้สัญญาเพิ่มเติมในหลายกรณีก็สามารถซื้อใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ที่เราพร้อม
- 2. เปลี่ยนแบบประกันที่ถูกลง
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแบบประกันใหม่ จะช่วยทำให้เราจ่ายค่าเบี้ยได้ถูกลง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข เช่น ในกรมธรรม์เดิมระบุให้ลดเงื่อนไขบางอย่างเพื่อลดค่าเบี้ยได้หรือไม่ มองหาประกันใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้หรือเปล่า รวมถึงเมื่อเปลี่ยนแล้วจะมีเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์เดิมหรือเปล่า การเปลี่ยนแผนประกันแต่ละครั้งจึงจำเป็นต้องทำการศึกษาหาข้อมูลให้รอบด้านเพื่อให้พบตัวเลือกที่คุ้มค่ามากที่สุด
- 3. ลดจำนวนเงินเอาประกันภัยลง
นี่เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้จ่ายเบี้ยน้อยลงได้แน่นอน แต่การจะใช้วิธีนี้ได้ ต้องมีสองเงื่อนไขประกอบกัน คือ ผู้เอาประกันต้องไม่เป็นหนี้กับบริษัทประกันอยู่ในขณะนั้น (คือไม่มีค่าเบี้ยค้างชำระหรืออยู่ในระยะผ่อนผันการจ่ายเบี้ย) และจำนวนเงินที่ขอลดต้องไม่น้อยกว่าทุนประกันขั้นต่ำที่ระบุไว้ในแผนประกันนั้น เช่น หากจะขอลดเบี้ยประกันชีวิต ก็จะขอลดได้เท่าที่บริษัทประกันระบุไว้ว่าเป็นวงเงินเอาประกันขั้นต่ำของกรมธรรม์นั้น
เมื่อชัดเจนแล้วว่าไม่สามารถจ่ายเบี้ยต่อไปได้
สถานการณ์นี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่มันก็สามารถเกิดขึ้นกับเราได้จากหลายสาเหตุ เช่น รายได้ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน ทำให้ต้องตัดรายจ่ายบางอย่างออกไป และเมื่อต้องตัดรายจ่าย รายจ่ายที่เป็นเงินก้อนใหญ่ก็จะถูกเลือกตัดออกเป็นอันดับแรก เบี้ยประกันรายปีก็เป็นหนึ่งในนั้น หากลองทำตามทุกวิธีก่อนหน้านี้แล้วไม่สามารถจัดการจ่ายค่าเบี้ยได้ นั่นแสดงว่าคุณคงจ่ายค่าเบี้ยต่อไปไม่ไหว ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น วิธีต่อไปนี้ช่วยคุณได้ ที่สำคัญคือบางวิธียังคงช่วยให้คุณได้รับความคุ้มครองจากประกันต่อไป เพียงแต่จะเป็นไปด้วยเงื่อนไขที่ต่างจากเดิม
- 1. เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ
วิธีนี้หลายคนอาจจะเห็นแล้วรู้สึกสงสัยว่ามันคืออะไร ที่จริงแล้วมันก็คือการขอปรับเปลี่ยนกรมธรรม์เป็นแบบที่เราไม่ต้องส่งเบี้ยต่อ (เหมือนกับว่าได้จ่ายเบี้ยครบอายุสัญญาแล้ว) ความคุ้มครองจะอยู่ไปจนครบอายุสัญญา เพียงแต่วงเงินเอาประกันจะลดลง ส่วนจะลดลงเหลือเท่าไหร่นั้น ดูได้จากตารางมูลค่าใช้เงินสำเร็จซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ หากคุณจ่ายเบี้ยตั้งแต่สองปีขึ้นไป หรือมีมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ และกรมธรรม์ยังมีผลบังคับอยู่ (อยู่ในอายุสัญญา) รวมถึงในกรมธรรม์มีตารางมูลค่าใช้เงินสำเร็จ แสดงว่าคุณมีคุณสมบัติขอรับสิทธิ์นี้ได้
- 2. เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์แบบขยายเวลา
การจะใช้วิธีนี้ได้ คุณต้องส่งเบี้ยมาแล้วสองปี หรือมีมูลค่าเวนคืนประกันเช่นเดียวกับวิธีแรก รวมถึงกรมธรรม์ต้องมีตารางขยายเวลา สิ่งที่ต่างจากวิธีแรกคือ คุณจะได้รับความคุ้มครองด้วยวงเงินเท่าเดิม เพียงแต่ระยะเวลาคุ้มครองจะลดลง และสำหรับสองวิธีนี้ หากมีสัญญาสิทธิประโยชน์อื่นแนบท้าย ก็จะต้องถูกยกเลิกไป โดยที่ความคุ้มครองพื้นฐานยังคงอยู่
- 3. กู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิต
ในกรณีของประกันชีวิต นี่คืออีกหนึ่งวิธีที่สามารถทำได้ โดยการกู้เงินจากวงเงินเวนคืนกรมธรรม์มาชำระเบี้ยแบบอัตโนมัติ ซึ่งบริษัทประกันจะคิดดอกเบี้ยแบบทบต้น และจะทำวิธีนี้ไปจนกว่าเงินเวนคืนจะไม่พอชำระเบี้ย ข้อดีคือความคุ้มครองจากประกันยังมีอยู่ แต่ข้อเสียก็คือการเป็นหนี้ เพราะปกติเงินส่วนนี้จะมีไว้สำหรับกู้มาใช้ฉุกเฉินในขณะอยู่ในอายุสัญญาเท่านั้น
- 4. เวนคืนกรมธรรม์
วิธีนี้เหมาะกับคนที่ต้องการเงินก้อนและไม่ต้องการความคุ้มครองอีกต่อไป (คือการยกเลิกการทำประกัน) เพียงแต่ก่อนเลือกวิธีนี้ ควรเทียบกับวิธีที่สามดูก่อนว่าแบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน
อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนคงเห็นแล้วว่า แม้ปัญหาจ่ายเบี้ยไม่ไหวจะเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุและระดับความรุนแรงที่ต่างกัน แต่ทุกปัญหาก็มีทางออก ตั้งแต่วิธีง่ายที่สุดอย่างการผ่อนผันจ่ายค่าเบี้ยภายใน 31 วัน ไปจนถึงการเวนคืนกรมธรรม์ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพหรือประกันชีวิต เราเชื่อว่าทางออกที่นำมาให้นี้คงมีอย่างน้อยหนึ่งตัวเลือกที่จะช่วยให้คุณผ่านพ้นปัญหาที่เกิดขึ้นไปได้ เมื่อรวมกับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำประกัน จึงไม่มีเหตุผลเลยที่คุณจะไม่ตัดสินใจเริ่มมองหาประกันที่เหมาะกับตัวเองตั้งแต่วันนี้
ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ