สายปาร์ตี้ต้องรู้ สิ่งที่ห้ามทำ หลังดื่มแอลกอฮอล์

แม้ทุกคนจะรู้อยู่แล้วว่า ‘แอลกอฮอล์’ ส่งผลเสียต่อร่างกายและสุขภาพในระยะยาว แต่อย่างนั้นก็เป็นเครื่องดื่มที่ขาดไม่ได้ในทุกงานปาร์ตี้ อย่างไรก็ตามการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกจากไม่ควรดื่มมากเกินไปแล้ว หลังดื่มยังมีสิ่งที่ไม่ควรทำดังต่อไปนี้
- ห้ามรับประทานยาบรรเทาอาการปวดศีรษะ เพราะส่วนผสมในยาอาจไปผสมกับแอลกอฮอล์ที่สะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งนอกจากอาจเป็นอันตรายแบบเฉียบพลันแล้ว ทั้งยังส่งผลเสียต่อตับในระยะยาว
- ห้ามเป่าพัดลม แม้จะรู้สึกร้อนวูบวาบจากแอลกอฮอล์ แต่ไม่ควรเป่าพัดลมทันที เพราะลมเย็น ๆ จากพัดลมจะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนเร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้รู้สึกปวดศีรษะและอาจร้ายแรงถึงขั้นเส้นเลือดในสมองแตกได้
- ห้ามอาบน้ำทันที เพราะการดื่มแอลกอฮอล์จะไปยับยั้งการทำงานของตับ ทำให้มีการปล่อยกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดน้อยลงกว่าปกติ แต่การอาบน้ำจะทำให้ร่างกายต้องการกลูโคสมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้แนะนำว่าหลังปาร์ตี้ควรนั่งพักก่อนอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงแล้วค่อยอาบน้ำ
- ห้ามหลับยาว เพราะหากนอนหลับทันทีจะทำให้มีโอกาสตื่นมาแล้วรู้สึกเมาค้างในตอนเช้า ดังนั้นถ้ารู้สึกง่วงนอน ควรดื่มน้ำเปล่าหรือนั่งพักให้สร่างเมาก่อน ช่วยให้ตับขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายได้ดีขึ้น

แอลกอฮอล์เพียงแก้วเดียวมีผลกับร่างกายและสมองมากกว่าที่คิด
หากถามสายปาร์ตี้ว่ารู้สึกอย่างไรหลังดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มั่นใจว่าคำตอบของคนส่วนใหญ่คงเป็น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตื่นเต้น ทำให้พุดคุยกับเพื่อนร่วมวงสนุกขึ้น ทั้ง ๆ ในความจริงแล้วแอลกอฮอล์อาจทำให้รู้สึกมึนงง สูญเสียการควบคุม สับสน ง่วงซึม และส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้ตั้งแต่แก้วแรกที่ดื่มดังนี้
- การทำงานของสมอง
อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าในสมองมีสารสื่อประสาทหลายชนิดที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย ซึ่งแอลกอฮอล์จะส่งผลกระทบต่อตัวรับของสารสื่อประสาทแม้ได้รับในปริมาณเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็น ‘กลูตาเมต’ ซึ่งมีบทบาทสำคัญเกี่ยวระบบความทรงจำของสมอง โดยนักวิจัยเชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอร์จะเข้าไปขัดขวางการทำงานของกลูตาเมตและทำให้มีอาการมึนเมา กรดแกมมาอะมิโนบิวทิริกหรือ GABA ส่งผลให้ผู้ดื่มรู้สึกง่วงซัมและเคลื่อนไหวผิดปกติ นอกจากนั้นยังส่งผลกระทบต่อสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ทำให้เกิดผลเสียต่อระบบการถ่ายโอนและจัดเก็บความทรงจำในระยะยาว
- การทำงานของหัวใจ
แน่นอนว่าการดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานทำให้เสี่ยงเป็นโรคประจำตัว ทั้งโรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม แต่ถึงอย่างนั้นการดื่มสุราส่งผลกระทบต่อร่างกายในทันทีเช่นเดียวกัน เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปรบกวนระบบการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นหรือเต้นผิดจังหวะ อีกทั้งยังกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนความเครียด ทำให้หลอดเลือดหดตัวและมีภาวะความดันโลหิตสูงตามมาด้วย
- การทำงานของตับอ่อน
แอลกอฮอล์จะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของตับอ่อน ทำให้เกิดการหลั่งเอนไซม์ย่อยอาหารก่อนเวลา แต่นอกจากจะไม่ส่งเอนไซน์เข้าสู่ระบบย่อยที่ลำไส้เล็กแล้ว ยังย้อนกลับมาทำอันตรายต่อตับอ่อนด้วย โดยแอลกอฮอล์จะทำให้ตับอ่อนเกิดอาการบวมและเกิดภาวะอักเสบ ซึ่งในกรณีภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลับจะทำให้รู้สึกปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ หัวใจเต้นแรง มีอาการท้องเสีย และเหงื่อออก
- การทำงานของไต
เพราะไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณ องค์ประกอบของเหลว และระดับอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย แต่แอลกอฮอล์จะทำให้เกิดกระบวนการขับปัสสาวะมากขึ้น และรบกวนระบบสมดุลอิเล็กโทรไลต์ของร่างกาย ทำให้หลังจากดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะภายใน 20 นาที ซึ่งการสูญเสียน้ำในร่างกายอาจทำให้รู้สึกกระหายน้ำ อ่อนเพลีย และเวียนศีรษะกะทันหันได้

- การทำงานของกระเพาะอาหาร
ปกติแล้วแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่ลำไส้เล็ก แต่ในขณะที่แอลกอฮอล์อยู่ในกระเพาะอาหารจะกระตุ้นการหลั่งของน้ำย่อยหรือกรดไฮโดรคลอริกที่ก่อให้เกิดการอักเสบและสร้างความเสียหายต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร รวมถึงทำให้แบคทีเรียกระเพาะอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลุดออกไปสู่กระแสเลือด ส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหารเสียสมดุลในระยะยาว
- การทำงานของตับ
เนื่องด้วยตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่กรองสารพิษจากร่างกาย เพราะฉะนั้นเมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ตับจะถูกย่อยสลายด้วยเอนไซม์แอลกอฮอล์ดีไฮโดรจีเนสให้กลายเป็นอะเซทัลดีไฮด์ ซึ่งสารตัวนี้เป็นตัวการทำให้ตับเกิดการอักเสบ หากดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ตับเกิดการอักเสบต่อเนื่อง เซลล์ตับถูกทำลายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ และกลายเป็นภาวะตับแข็งในที่สุด
- การทำงานของปอด
ถึงแอลกอฮอล์จะไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปอดโดยตรง แต่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงในการสำลักสารคัดหลั่งและสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่หลอดลมและปอด ทำให้อาจเป็นโรคอื่น ๆ ตามมา อย่างโรคปอดและเยื่อบุทางเดินหายใจ
จะเห็นว่าการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาวและเพิ่มปัจจัยเสี่ยงเรื่องโรคประจำตัวเท่านั้น แต่ยังมีผลเสียในระยะสั้นด้วย ดังนั้นหากจำเป็นต้องดื่มควรดื่มแต่พอประมาณ ถ้ารู้สึกเมาหรือควบคุมตัวเองไม่ได้ควรหยุดดื่มแอลกอฮอล์ เปลี่ยนมาดื่มน้ำเปล่าแทนเพื่อขับแอลกอฮอล์ออกทางปัสสาวะ นั่งพักให้สร่างเมา และที่สำคัญห้ามขับรถขณะมึนเมาเด็ดขาด เพียงเท่านี้ช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้นแล้ว