ประกันสังคมมาตรา 33, 39, 40 ต่างกันอย่างไร?

ถึงแม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะจ่ายเงินสมทบให้กับสำนักงานประกันสังคมทุกเดือน แต่เชื่อว่าบางคนยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นผู้ประกันตนมาตราไหน หรือได้รับสิทธิอะไรบ้างจากการจ่ายเงินทุกเดือน เพราะฉะนั้นเพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าใจมากขึ้น เรามีความแตกต่างของมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ของกองทุนประกันสังคมมาฝาก รับรองเข้าใจมากขึ้นแน่นอน
ความแตกต่างของแต่ละมาตรา 33 39 40
อย่างที่รู้กันแล้วว่ากองทุนประกันสังคมแบ่งเป็น 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 33 , มาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละมาตรามีความแตกต่างกันทั้งในด้านการบังคับใช้ , ความคุ้มครอง , ค่าเบี้ยประกันต่อเดือน และอายุในการรับสมัคร โดยแต่ละมาตรามีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- มาตรา 33
การประกันตนมาตรา 33 ถือเป็นประกันตนภาคบังคับตาม พ.ร.บ. ประกันสังคมที่บังคับใช้กับพนักงานของบริษัทเอกชนที่ทำงานและได้รับค่าจ้างจากสถานประกอบการเอกชนที่มีการจดทะเบียนและมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ซึ่งผู้ประกอบการต้องดำเนินการสมัครให้กับลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี และหักเงินส่งเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนตามอัตราส่วนผู้ประกันตน 5% นายจ้าง 5% และรัฐบาล 2.75% โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนค่าจ้างที่ได้รับ แต่ถึงอย่างนั้นทางสำนักงานประกันสังคมได้กำหนดฐานเงินเดือนขั้นต่ำของลูกจ้างที่ถูกบังคับใช้ พ.ร.บ. ประกันสังคมมาตรา 33 อยู่ที่ 1,650 บาท หากต่ำกว่านั้นไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม อย่างไรก็ตามปัจจุบันการหักเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมสูงสุดที่ 875 บาท เมื่อคำนวณจากฐานเงินเดือน 17,500 บาทขึ้นไป แต่ถึงอย่างนั้นในอนาคตทางสำนักงานประกันสังคมมีการขยับยอดเงินสบทบสูงสุดขึ้นเป็น 1,150 บาท เมื่อคำนวณจากฐานเงินเดือน 23,000 บาทขึ้นไป ส่วนในด้านความคุ้มครองผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้น 7 กรณี ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล , เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ , เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต , เงินคลอดบุตร , เงินสงเคราะห์บุตร , เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ และเงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน
- มาตรา 39
การประกันตนมาตรา 39 ไม่ถือเป็นประกันตนภาคบังคับตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม จะทำหรือไม่ทำก็ได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าผู้ประกันตนที่มีสิทธิสมัครมาตรา 39 ต้องเคยเป็นพนักงานของบริษัทเอกชนที่ผ่านการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน ส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมมาตรา 33 มาแล้วอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 12 เดือน ลาออกจากงานมาไม่เกิน 6 เดือน ไม่ได้สมัครงานใหม่ และต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพที่รับเงินทดแทนจากกองทุนประกันสังคม ในส่วนของเงินสมทบที่ต้องส่งให้กับกองทุนประกันสังคมจะแตกต่างจากมาตรา 33 ด้วยไม่ได้คิดคำนวณจากฐานเงินเดือน แต่จะคิดในอัตราเดียวที่ 432 บาทต่อเดือน ขณะที่รัฐบาลจะสมทบเพิ่มให้อีกเดือนละ 120 บาทต่อเดือน สำหรับความคุ้มครองประกันสังคมมาตรา 39 จะให้คุ้มครองทั้งหมด 6 กรณี ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล , เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ , เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต , เงินคลอดบุตร , เงินสงเคราะห์บุตร และเงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ แต่จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือในกรณีว่างงาน เนื่องด้วยหลังจากลาออกจากงาน ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิ์จากมาตรา 33 ได้เลย

- มาตรา 40
การประกันตนมาตรา 40 จะจัดอยู่ประเภทเดียวกับมาตรา 39 เพราะเป็นประกันตนภาคสมัครใจตาม พ.ร.บ. ประกันสังคมเช่นเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันตรงที่มาตรา 40 จะให้สิทธิกับประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 65 ปี ประกอบอาชีพอิสระ อย่างอาชีพค้าขาย , เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคมมาตรา 33 , ฟรีแลนซ์ ด้วยเหตุนี้การสมัครมาตรา 40 จึงมีเงื่อนไขว่าผู้สมัครต้องไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 ไม่ประกอบอาชีพรับราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีสิทธิด้านสาธารณสุขและเงินชดเชยกรณีต่าง ๆ จากรัฐบาลอยู่แล้ว .. สำหรับการประกันตนมาตรา 40 มีด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่
ส่งเงินสมทบจำนวน 70 บาท ต่อเดือน ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้น 5 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วยรับเงินทดแทนสูงสุด 300 บาทต่อวัน สูงสุด 30 วันต่อปี , กรณีทุพพลภาพรับเงินทดแทน 500 – 1,000 บาทต่อเดือน ไม่เกิน 15 ปี , กรณีชราภาพได้รับบำเหน็จขั้นต่ำ 150 บาทต่อเดือน , กรณีเงินสงเคราะห์บุตรได้รับคนละ 200 บาทต่อคนต่อเดือน สูงสุดครั้งละ 2 คน และกรณีเสียชีวิตรับค่าทำศพ 50,000 บาท
ส่งเงินสมทบจำนวน 70 บาท ต่อเดือน ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้น 3 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วยรับเงินทดแทนสูงสุด 300 บาทต่อวัน สูงสุด 30 วันต่อปี , กรณีทุพพลภาพรับเงินทดแทน 500 – 1,000 บาทต่อเดือน ไม่เกิน 15 ปี และกรณีเสียชีวิตรับค่าทำศพ 25,000 บาท ส่งครบ 60 เดือนได้เพิ่ม 8,000 บาท
ส่งเงินสมทบจำนวน 100 บาท ต่อเดือน ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครองทั้งสิ้น 4 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วยรับเงินทดแทนสูงสุด 300 บาทต่อวัน สูงสุด 30 วันต่อปี , กรณีทุพพลภาพรับเงินทดแทน 500 – 1,000 บาทต่อเดือน ไม่เกิน 15 ปี , กรณีชราภาพได้รับบำเหน็จขั้นต่ำ 50 บาทต่อเดือน และกรณีเสียชีวิตรับค่าทำศพ 25,000 บาท ส่งครบ 60 เดือนได้เพิ่ม 8,000 บาท

ใครควรเลือกใช้มาตราไหน?
จากข้อมูลจะเห็นว่าประกันสังคมแต่ละมาตรามีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกันตนและเงื่อนไขในการสมัครไว้อย่างชัดเจน โดยมาตรา 33 ระบุว่าผู้สมัครต้องเป็นพนักงานในบริษัทเอกชนทั่วไป มาตรา 39 ต้องเป็นคนที่เคยทำงานบริษัทเอกชนที่ลาออกจากงาน ซึ่งจะขาดจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยอัตโนมัติ ขณะที่มาตรา 40 สำหรับประชาชนทั่วไป กลุ่มอาชีพฟรีแลนซ์ และแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 หรือรับสิทธิ์ของข้าราชการ
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับประกันสังคมมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่เรานำมาฝาก ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละมาตรามีความแตกต่างกันในหลายจุด อย่างไรก็ตามแต่ละมาตราได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นหากต้องการสมัครเป็นผู้ประกันตนกับประกันสังคมควรศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขของแต่ละมาตราเพื่อสิทธิประโยชน์ของตัวคุณเอง
บทความ เงินอุดหนุนบุตรประกันสังคม
เชคข้อมูล ประกันสังคม