Post Views: 516
เมาแล้วขับ ต้องรับโทษตามกฎหมายอะไรบ้าง
ตัวเลขจำนวนอุบัติเหตุทางถนนยังคงเพิ่มขึ้น และโดยส่วนใหญ่พบว่าการเกิดอุบัติเหตุเชื่อมโยงกับการดื่มแอลกอฮอล์ นั่นคือขับรถในขณะมีอาการมึนเมาซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากเหตุการณ์บนท้องถนน เพราะผลจากแอลกอฮอล์ที่ซึมเข้ากระแสเลือดนั้นทำให้ขาดสติ บางคนเกิดความคึกคะนองและขับรถโดยประมาท ไม่สามารถควบคุมสติและไม่สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องเหมาะสมในระหว่างขับรถได้
ดังนั้นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จนเกิดอาการเมาจึงไม่ควรขับรถอย่างเด็ดขาด … แต่ก็ยังมีผู้ขับไม่น้อยที่ละเลยในเรื่องนี้ทำให้ตกอยู่ในความเสี่ยงและเผชิญกับอันตรายไม่เฉพาะแค่ตนเองเท่านั้น แต่ยังนำภัยร้ายและความสูญเสียไปสู่ผู้อื่นอีกด้วย ในทางกฎหมายถือว่าเป็นความผิด ต้องได้รับโทษหนัก-เบาตามแต่กรณี มาดูกันว่าโทษของผู้ก่อเหตุเมาแล้วขับ มีอะไรบ้าง
รวมให้แล้ว กฎหมายเมาแล้วขับ ต้องรับโทษตามกฎหมายอะไรบ้าง
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายหลักของไทยที่บังคับใช้เพื่อควบคุมการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ข้อกำหนดเกี่ยวกับการกระทำความผิดโทษฐานขับรถขณะเมาสุรา หรือเมาอย่างอื่นก็รวมอยู่ใน พ.ร.บ.นี้ มาตราที่เกี่ยวข้องคือ
- • พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 (2) ห้ามไม่ให้ขับรถในขณะเมาสุราหรือเมาอย่างอื่น ฝ่าฝืนมีโทษฐานเมาแล้วขับ
- • มาตรา 142 (43 ตรี) เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ขับได้ขับรถในขณะที่กำลังเมาสุราหรือเมาอย่างอื่น
- • กฎกระทรวงฉบับที่ 16 พ.ศ. 2537 เป็นหลักเกณฑ์ในตรวจสอบว่า ผู้ขับเมาหรือไม่เมาโดยการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด วิธีตรวจคือวัดลมหายใจหรือที่เรียกว่าการเป่า แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ให้ใช้วิธีตรวจปัสสาวะ หรือของเสียอย่างอื่นด้วยกระบวนการทางการแพทย์ที่ไม่ทำให้เจ็บปวดมากและไม่เป็นอันตราย อีกวิธีหนึ่งคือการตรวจเลือด วิธีนี้ต้องได้รับความยินยอมจึงจะทำได้ ทั้งนี้ผู้ขับที่มีอายุเกิน 20 ปี มีใบขับขี่ตลอดชีพ หรือใบขับขี่ 5 ปี หากถูกตรวจพบว่ามีแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่ามีความผิดฐานเมาแล้วขับ
- • กฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ. 2550 เป็นข้อกำหนดใหม่ที่เพิ่มเงื่อนไขการตรวจแอลกอฮอล์สำหรับผู้ขับอีก 4 ประเภท คือ ผู้ขับที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, ผู้ขับที่มีใบขับขี่ชั่วคราว (2 ปี), ผู้ขับที่มีใบขับขี่ประเภทอื่น ใช้แทนกันไม่ได้ และผู้ขับขี่ที่ถูกพักหรือถูกเพิกถอนใบขับขี่ ทั้ง 4 ประเภทนี้หากมีแอลกอฮอล์เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่ามีความผิดฐานเมาแล้วขับ
- • มาตรา 43 (จัตวา) เป็นข้อกำหนดสำหรับกรณีที่ผู้ขับถูกตรวจพบแอลกอฮอล์ ให้ส่งตัวพร้อมพยานหลักฐานไปดำเนินคดีทันที
- • มาตรา 154 (3) เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการฝ่าผืนคำสั่งเจ้าหน้าที่เมื่อถูกเรียกแล้วไม่ยอมตรวจโดยไม่มีเหตุอันสมควร จะถูกสันนิษฐานว่าเมาและต้องโทษความผิดฐานเมาแล้วขับด้วย
บทลงโทษตามกฎหมายเมาแล้วขับจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ
การทำผิดกฎหมายในข้อหาเมาแล้วขับนั้นมีโทษถึงขั้นจำคุกและปรับเป็นเงินจำนวนมาก รวมถึงการพักใบอนุญาตขับรถ หรืออาจถูกเพิกถอนใบขับขี่และโดนยึดรถได้อีกด้วย หากถูกตรวจพบแอลกอฮอล์ในร่างกายสูงเกินข้อกำหนดทางกฎหมายในขณะที่กำลังขับรถ มาดูรายละเอียดกันว่า บทลงโทษเหล่านี้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เมาแล้วขับแบบไหนต้องโทษระดับใด
- • ถูกตรวจพบความผิดฐานเมาแล้วขับเป็นครั้งแรก มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- • ถูกตรวจพบความผิดฐานเมาแล้วขับซ้ำอีกในระยะเวลาห่างกันไม่เกิน 2 ปี มีโทษหนักขึ้นคือจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกพักใบขับขี่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี หรืออาจถูกเพิกถอนใบขับขี่หากว่าเมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงต่อผู้อื่น
- • หากถูกตรวจพบว่าเมาแล้วขับจนเป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของผู้อื่น มีโทษจำคุก 1 – 5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท และจะถูกพักใบขับขี่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี หรืออาจถูกเพิกถอนใบขับขี่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินของศาล
- • หากเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นได้รับความบาดเจ็บอย่างสาหัส มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 6 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000 – 120,000 บาท ถูกพักใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบขับขี่
- • เมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท และจะถูกเพิกถอนใบขับขี่ทันที
เมาแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุประกันคุ้มครองไหม
การขับขี่ขณะมึนเมามีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว จะได้รับความคุ้มครองเฉพาะประกันภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. ซึ่งความคุ้มครองนั้นครอบคลุมเพียงค่ารักษาพยาบาลหากได้รับบาดเจ็บ แต่จะไม่ครอบคลุมความเสียหายของทรัพย์สินและตัวรถ
ส่วนประกันภาคสมัครใจ ถ้าผู้ขับขี่มีการทำประกันไว้จะคุ้มครองเฉพาะความเสียหายของคู่กรณี โดยหลังจากที่บริษัทประกันจ่ายค่าเสียหายแทนให้แล้ว บริษัทมีสิทธิที่จะเรียกเงินคืนในภายหลัง และในฝั่งของผู้ขับที่ก่อเหตุเพราะเมาแอลกอฮอล์จะไม่ได้รับความคุ้มครองแม้ว่าจะเป็นประกันชั้น 1 ก็ไม่จ่ายเช่นกัน ดังนั้นเลี่ยงได้ควรเลี่ยง อย่าให้ตัวเองและผู้อื่นต้องเสี่ยงกับความสูญเสียเพียงเพราะแอลกอฮอล์และความสนุกสนานชั่วครู่ชั่วยามเป็นดีที่สุด
ถ้าคิดถึงเรื่องประกัน TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์ โบรกเกอร์ประกันภัย เป็นที่ปรึกษาด้านประกันภัยรถยนต์ ประกันการเดินทาง และประกันด้านสุขภาพ