ความสำคัญของแอร์แบคคู่หน้า และประโยชน์ของแอร์แบครถยนต์

ความสำคัญของแอร์แบคคู่หน้า และประโยชน์ของแอร์แบครถยนต์

Key Takeaways

  • แอร์แบค คือ อุปกรณ์เสริมที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยเวลารถยนต์เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งถูกติดตั้งอยู่บริเวณด้านหน้า, ด้านข้าง, เสา A, เสา C, เข่าและขา และหากรถถูกกระแทกอย่างรุนแรง แอร์แบครถยนต์จะกางออกมา ซึ่งมีลักษณะคล้ายหมอนเพื่อรองรับและลดอาการบาดเจ็บ
  • การทำงานของแอร์แบครถยนต์จะเต็มประสิทธิภาพได้นั้น คนขับจะต้องเว้นระยะห่างกับพวงมาลัย 25 ซม., ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง, ต้องวางคาร์ซีทให้ถูกตำแหน่ง และถ้าหน้าปัดแสดงสัญญาณเตือนแอร์แบคจะต้องเอารถไปเช็กโดยเร็ว

ทุกคนต้องเคยได้ยินคำว่าแอร์แบคหรือถุงลมนิรภัยกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้เลยว่าจริง ๆ แล้วตำแหน่งแอร์แบครถยนต์นั้นอยู่ตรงไหน แล้วทำไมบางทีเวลาเกิดอุบัติเหตุ ถุงลมนิรภัยที่ว่าก็ไม่เห็นจะทำงานเลย วันนี้ TPIS เลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับแอร์แบคว่าคืออะไรและมีขั้นตอนการทำงานยังไง ทำไมถึงกลายมาเป็นสิ่งที่สามารถช่วยชีวิตเราได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น

ถุงลมนิรภัยหรือแอร์แบค คืออะไร?

แอร์แบค
ภาพ: แอร์แบค

“ อุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยในรถยนต์ ”

เวลาจะซื้อรถถุงลมนิรภัยหรือแอร์แบค กลายเป็นหนึ่งในฟังก์ชันรถที่หลายคนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะรถครอบครัวที่ต้องใส่ใจเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยแอร์แบคคืออุปกรณ์เสริมที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยเวลารถยนต์เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะถูกพับและติดตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ และเมื่อรถยนต์เกิดการกระแทกอย่างรุนแรง แอร์แบครถยนต์ที่ถูกพับไว้จะกางออกมา ซึ่งมีลักษณะคล้ายหมอนเพื่อรองรับและลดอาการบาดเจ็บจากการกระแทกหรือเหวี่ยงไปมาอย่างรวดเร็วนั่นเอง

ตำแหน่งแอร์แบครถยนต์ อยู่ตรงไหนบ้าง?

แอร์แบครถยนต์
ภาพ: แอร์แบครถยนต์
  • บริเวณด้านหน้า หรือ Front Airbag จะถูกติดตั้งอยู่ตรงกลางพวงมาลัยและตรงคอนโซลด้านหน้าฝั่งซ้าย เพื่อป้องกันการกระแทกบริเวณใบหน้าและช่วงอก
  • บริเวณด้านข้าง หรือ Side Airbag จะถูกติดตั้งอยู่ตรงปีกเบาะนั่งริมนอก เพื่อป้องกันการกระแทกบริเวณด้านข้างลำตัวและส่วนล่างของร่างกาย
  • ม่านแอร์แบค หรือ Curtain Airbag จะถูกติดตั้งอยู่ตรงเสา A คู่หน้าไปจนถึงเสา C คู่หลัง เพื่อป้องกันการกระแทกบริเวณใบหน้าและศีรษะ รวมถึงช่วยป้องกันกระจกด้านข้างแตกใส่ผู้โดยสารด้วย
  • บริเวณเข่าและขา หรือ Knee Airbag จะถูกติดตั้งอยู่ตรงใต้คอนโซลฝั่งคนขับบริเวณหัวเข่า เพื่อป้องกันการกระแทกบริเวณหัวเข่าและขา

ขั้นตอนการทำงานของแอร์แบค มีอะไรบ้าง?

แอร์แบค
ภาพ: แอร์แบค
  1. หลังรถยนต์เกิดการกระแทกด้วยความแรงที่เกินกำหนด เซนเซอร์ก็จะตรวจจับแรงกระแทกนั้น และสั่งการไปยังแอร์แบครถยนต์ให้เริ่มทำงาน
  2. ในจังหวะแรกแอร์แบคจะพองตัวประมาณ 30% เพื่อป้องกันไม่ให้คนขับและผู้โดยสารกระแทกกับถุงลมนิรภัยแรงเกินไป
  3. จากนั้นจึงค่อยพองตัว 100% ซึ่งใช้เวลาเพียง 0.04 วินาที เพื่อป้องกันไม่ให้คนขับและผู้โดยสารกระแทกกับของแข็งต่าง ๆ รอบตัวรถ
  4. และหลังจากนั้นไม่นานแอร์แบคก็จะค่อย ๆ ยุบตัวลง เพื่อป้องกันไม่ให้คนขับและผู้โดยสารถูกอัดด้วยถุงลมนิรภัยนานจนเกินไป

ปัจจัยที่ทำให้แอร์แบคไม่ทำงาน มีอะไรบ้าง?

อุบัติเหตุทางรถยนต์
ภาพ: อุบัติเหตุทางรถยนต์
  • ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย เนื่องจากแอร์แบครถยนต์บางรุ่นในปัจจุบัน ถูกตั้งค่าไว้ไม่ให้ทำงานหากคนขับหรือผู้โดยสารข้างคนขับไม่ยอมคาดเข็มขัดนิรภัย
  • ระบบเซนเซอร์เสีย โดยเฉพาะในรถยนต์ที่เก่ามาก ๆ แล้วไม่ค่อยได้เอาไปเช็กสภาพรถ อะไหล่และระบบการทำงานของแอร์แบครถยนต์จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

แน่นอนว่าอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแต่มันก็เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้น ทางที่ดีเราจึงควรหมั่นตรวจเช็กสภาพรถอยู่เสมอ พร้อมหาประกันภัยรถยนต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การขับรถ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการขับรถและช่วยคลายกังวลเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ถุงลมนิรภัย หรือ แอร์แบครถยนต์

1. ต้องเว้นระยะห่างระหว่างคนขับกับพวงมาลัย

ระยะห่างระหว่างคนขับกับพวงมาลัย
ภาพ: ระยะห่างระหว่างคนขับกับพวงมาลัย

ใครชอบนั่งขับรถใกล้พวงมาลัยต้องระวัง เพราะเวลาเกิดอุบัติเหตุแอร์แบคจะพองตัวด้วยความเร็วและความแรง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ ดังนั้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยคนขับควรนั่งห่างจากพวงมาลัยประมาณ 25 ซม. โดยวัดจากจุดกึ่งกลางพวงมาลัยไปยังหน้าอก

2. อย่าลืมคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง

การคาดเข็มขัดนิรภัย
ภาพ: การคาดเข็มขัดนิรภัย

นอกจากการไม่คาดเข็มขัดนิรภัยจะผิดกฎหมายแล้ว ยังเพิ่มความอันตรายเวลาเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย เพราะในรถบางรุ่นแอร์แบครถยนต์จะไม่ทำงานถ้าไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และแม้ว่าถุงลมนิรภัยของรถยนต์บางรุ่นจะทำงานตลอดเวลา แต่การไม่คาดเข็มขัดจะทำให้คนขับและผู้โดยสารถูกกระแทกด้วยแอร์แบคอย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะทำให้บาดเจ็บหนักได้

3. ต้องวางคาร์ซีทให้ถูกตำแหน่ง

การติดตั้งคาร์ซีท
ภาพ: การติดตั้งคาร์ซีท

คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องไปส่งลูกน้อยที่โรงเรียนทุกเช้า หรือครอบครัวที่ต้องเดินทางไปเที่ยวทุกเดือน อาจคิดว่าแค่มีคาร์ซีทให้ลูกก็ปลอดภัยแล้ว แต่ตำแหน่งในการวางคาร์ซีทก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งผู้ปกครองไม่ควรติดตั้งคาร์ซีทที่เบาะหน้าด้านข้างคนขับโดยเด็ดขาด เพราะเมื่อแอร์แบคทำงานจะไปกระแทกเข้ากับตัวเด็กจนเกิดอันตรายได้ ทางที่ดีควรติดตั้งที่เบาะหลังจะดีที่สุด

4. หน้าปัดไม่ควรมีสัญญาณแอร์แบคขึ้น

สัญญาณเตือนแอร์แบค
ภาพ: สัญญาณเตือนแอร์แบค

เมื่อไรที่หน้าปัดรถยนต์แสดงสัญญาณไฟเตือนถุงลมนิรภัย เราควรรีบเอารถไปเช็กโดยด่วนว่าเกิดจากอะไร เพราะตามปกติการที่มีสัญญาณไฟเตือนแอร์แบคโชว์ แสดงว่าแอร์แบคได้ทำงานไปแล้ว ซึ่งมันทำงานได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เลยมีความเสี่ยงว่าแอร์แบคอาจจะไม่ทำงานหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริง ๆ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นความสำคัญของแอร์แบคคู่หน้าและประโยชน์ของแอร์แบครถยนต์ ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยขณะเกิดอุบัติเหตุได้จริง แต่ต้องใช้งานรถยนต์ให้ถูกวิธีเพื่อเสริมให้แอร์แบคสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่วนใครที่สนใจสมัครหรือต่อประกันภัยรถยนต์ แต่ยังต้องการสอบถามเบี้ยประกัน รวมถึงรายละเอียดความคุ้มครองเพิ่มเติม ก็สามารถให้ตรีเพชรอินชัวรันส์เซอร์วิสเป็นผู้ดูแลในการเลือกแบบประกันภัยรถยนต์ที่ตรงใจคุณมากที่สุด เพียงกรอกแบบฟอร์มด้านล่างนี้

TPIS ตรีเพชรอินชัวรันส์เซอร์วิส โบรกเกอร์ประกันภัยออนไลน์

เราพร้อมดูแลคุณในทุกขั้นตอนเพื่อให้คุณได้บริษัทประกันที่ตรงใจพร้อมแบบประกันภัยที่ตอบโจทย์ อย่างประกันภัยรถยนต์ แถมยังมีโปรโมชันผ่อน 0% นานสูงสุด 6 เดือน* สนใจสมัครประกันกับตรีเพชรอินชัวรันส์เซอร์วิส สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

*ผ่อน 0% นานสูงสุด 6 เดือน กับบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ