วิธีสแกนหน้าเช็กอินก่อนขึ้นเครื่องบิน

face for check-in

ในยุคดิจิทัลที่การเดินทางกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องของความรวดเร็ว ปลอดภัย .. การลดเวลาในการทำงานกลายเป็นสิ่งจำเป็น หนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทกับการเดินทางในยุคดิจิทัลคือ ระบบ Biometric หรือระบบพิสูจน์ตัวตนด้วยข้อมูลชีวภาพ เช่น ใบหน้า , ลายนิ้วมือ , ม่านตา โดยเฉพาะการใช้ Facial Biometric ในการเช็กอินหรือการจดจำใบหน้า ซึ่งกำลังกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของสนามบินทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้ในสนามบินหลัก เพื่อช่วยให้ผู้โดยสารเดินทางได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาเอกสารแบบเดิมอย่างบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง ช่วยลดทั้งขั้นตอนที่ซับซ้อนและเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบตัวตนรวมถึงความปลอดภัยสูงขึ้น

วิธีใช้ Facial Biometric ในการเช็กอิน

ระบบนี้ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน แม้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีก็สามารถใช้งานได้ โดยการลงทะเบียนสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  • ลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่สนามบิน เพียงแจ้งความประสงค์ที่เคาน์เตอร์เช็กอิน เจ้าหน้าที่จะถ่ายภาพใบหน้าและเชื่อมโยงกับข้อมูลเที่ยวบินผ่านเครื่องตรวจบัตรโดยสาร (เครื่อง CUTE) ซึ่งข้อมูลของผู้โดยสารจะถูกจัดเก็บในรูปแบบของ Token 

ลงทะเบียนผ่านเครื่องอัตโนมัติ (CUSS Kiosk) ผู้โดยสารจะต้องเลือกสายการบินที่เดินทาง จากนั้นให้เลือก Enrollment ค่อยสแกน Barcode จากบัตรโดยสารแล้วค่อยเสียบหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรประชาชน ถึงจะสแกนใบหน้าซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย การลงทะเบียนวิธีนี้ข้อมูลของผู้โดยสารจะถูกจัดเก็บในรูปแบบของ Token เช่นเดียวกัน

เมื่อข้อมูลถูกจัดเก็บ ระบบจะสร้าง Biometric Token ซึ่งเป็นข้อมูลดิจิทัลสำหรับใช้ยืนยันตัวตนในทุกขั้นตอนของสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นการโหลดสัมภาระ ผ่านจุดตรวจ หรือแม้แต่การขึ้นเครื่องบินโดยผู้โดยสารไม่ต้องแสดงเอกสารใด ๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้ข้อมูลชีวภาพจะได้รับการปกป้องตามมาตรฐาน PDPA โดยจะถูกลบภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากการเดินทางเสร็จสิ้น ทั้งนี้เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้โดยสาร

สนามบินไทยที่รองรับการเช็กอินด้วยใบหน้า

ตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นมา สนามบินหลักภายใต้การดูแลของการท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ได้เริ่มใช้งานระบบ Facial Biometric เพื่อยกระดับบริการให้ทันสมัยและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยสนามบินที่ให้บริการมีดังนี้

  • ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (BKK) – สนามบินนานาชาติหลักของไทย
  • ท่าอากาศยานดอนเมือง (DMK) – รองรับเที่ยวบินภายในและระหว่างประเทศ
  • ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (CNX) – จุดเชื่อมต่อสำคัญในภาคเหนือ
  • ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (CEI)
  • ท่าอากาศยานภูเก็ต (HKT) – ประตูสู่แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (HDY) – สนามบินสำคัญของภาคใต้

ระบบนี้เริ่มต้นให้บริการกับผู้โดยสารในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 และต่อมาได้ขยายสู่ผู้โดยสารระหว่างประเทศตั้งแต่ 1 ธันวาคมในปีเดียวกัน เพื่อรองรับการเดินทางที่เพิ่มขึ้นและตอบโจทย์โลกยุคใหม่ที่เน้นความปลอดภัยและความคล่องตัว

Facial Biometric ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีแฟนซี แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ประสบการณ์เดินทางเป็นเรื่องง่าย สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น ผู้โดยสารสามารถผ่านทุกขั้นตอนของสนามบินได้โดยไม่ต้องหยิบเอกสารหรือรอคิวนาน ลดความแออัดและเพิ่มความราบรื่นให้การเดินทางตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง … วันนี้เทคโนโลยีนี้พร้อมให้บริการแล้วใน 6 สนามบินหลักของไทย หากคุณกำลังวางแผนเดินทาง ลองใช้ระบบเช็กอินด้วยใบหน้า แล้วคุณจะสัมผัสถึงการเดินทางที่มอบความสะดวกได้แบบไร้รอยต่อที่แท้จริง

บทความ เครื่องบินดีเลย์ ได้รับค่าชดเชยและเคลมประกันการเดินทางทำอย่างไร