กู้เงินอย่างไรให้ฉลาด และไม่เป็นหนี้นาน

personal loan

การกู้เงินไม่ใช่เรื่องผิดหากรู้จักบริหารจัดการด้วยความรู้และความสามารถ หลายคนมองว่าการกู้เงินเป็นเพียงแค่การนำเงินมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อทดแทนรายรับที่ไม่เพียงพอ แต่แท้จริงแล้วการกู้เงินสามารถเป็นเครื่องมือสำคัญทางการลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน , รถยนต์ หรือแม้แต่การเริ่มต้นธุรกิจ อย่างไรก็ตามหากกู้เงินโดยไม่มีแบบแผนที่ดีก็อาจทำให้เกิดภาระหนี้สินที่ยาวนานและยากต่อการชำระคืน ดังนั้นการรู้จักกู้เงินอย่างชาญฉลาดจะช่วยให้มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีและลดภาระหนี้สินในระยะยาวได้

ข้อควรรู้ก่อนขอสินเชื่อจากธนาคาร

ก่อนที่จะตัดสินใจเป็นหนี้หรือยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันทางการเงินที่จะผูกพันธ์กับคุณในระยะยาว ควรพิจารณาปัจจัยที่สำคัญดังต่อไปนี้

  1. ประวัติการเงินดีหรือไม่ การที่คุณจะยื่นเอกสารเพื่อขอสินเชื่อกับทางธนาคาร ธนาคารต้องมั่นใจว่าคุณมีเครดิตดีหรือไม่มีประวัติทางการเงินด้านที่ไม่ดี เช่น เคยติดเครดิตบูโร , จ่ายหนี้ช้า ซึ่งทางธนาคารจะพิจารณาคะแนนเครดิตและพฤติกรรมการใช้จ่ายของคุณ ดังนั้นควรรักษาประวัติการเงินให้ดีเพื่อที่จะขอกู้เงินและดำเนินการต่าง ๆ ได้โดยง่าย เช่น การจ่ายหนี้ตรงเวลาและไม่เป็นหนี้เสีย
  2. ความสามารถในการชำระคืน ก่อนที่จะกู้เงินควรคำนวณรายรับ-รายจ่ายของตนเองว่ามีความสามารถในการชำระคืนหนี้หรือไม่ เพราะโดยปกติธนาคารจะกำหนดวงเงินกู้โดยรวมไม่เกิน 3-5 เท่าของรายได้ต่อเดือน หรือหากมีหลักทรัพย์ไปค้ำประกันก็จะตีราคาให้เพียง 60-70% ของมูลหลักทรัพย์นั้น ๆ  ซึ่งคุณจะต้องมั่นใจว่าจะสามารถชำระเงินกู้คืนได้ตามโปรแกรมที่ธนาคารกำหนด
  3. ศึกษาเงื่อนไขรายละเอียดของสินเชื่อที่ต้องการขอ เช่น อัตราดอกเบี้ย , ค่าธรรมเนียม และระยะเวลาการผ่อนชำระ เพื่อเลือกเงื่อนไขที่เหมาะสม
  4. เปรียบเทียบหลายธนาคาร การเปรียบเทียบข้อเสนอจากหลายธนาคารจะช่วยให้คุณเลือกสินเชื่อที่มีข้อกำหนดและอัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุด

บทความ จัดการหนี้อย่างไรให้หมดเร็ว และไม่กลับมาเป็นหนี้เพิ่ม

personal loan

เทคนิคเลือกสินเชื่อบ้าน รถ และบัตรเครดิต


1. สินเชื่อบ้าน

หากเป็นการขอสินเชื่อบ้าน สิ่งที่จะต้องพิจารณาเป็นลำดับแรกคือ อัตราดอกเบี้ย ในความเป็นจริงแล้วอัตราดอกเบี้ยของบ้านไม่แพง แต่เมื่อคำนวณงวดผ่อนต่อเดือนแล้วเป็นเงินก้อนค่อนข้างสูงเนื่องจากยอดกู้สูง ซึ่งดอกเบี้ยบ้านมีด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่

  • ดอกเบี้ยประเภทคงที่ (Fix Rate) อัตราดอกเบี้ยตายตัว ไม่สามารถปรับขึ้นหรือลงได้ในชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือตลอดสัญญา การเลือกอัตราดอกเบี้ยประเภทนี้ควรเลือกใช้ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น 
  • ดอกเบี้ยประเภทลอยตัว (Floating Rate) อัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันทางการเงินเลือกใช้ โดยจะมีการกำหนดเรทขั้นต่ำ(MRR) เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว การเลือกอัตราดอกเบี้ยประเภทนี้ควรเลือกในกรณีที่ดอกเบี้ยเป็นขาลง

คำแนะนำสำหรับผู้ที่คิดจะซื้อบ้าน คือ คำนวณเงินดาวน์ให้เพียงพอ โดยปกติควรมีเงินดาวน์อย่างน้อย 20-30% ของราคาบ้านเพื่อลดค่างวดและยังช่วยลดยอดกู้รวมดอกเบี้ยสำหรับการซื้อบ้านทั้งหมดได้ด้วย แปลว่ายิ่งดาวน์เยอะยิ่งเสียดอกน้อย รวมถึงตรวจสอบโปรโมชั่นของธนาคารที่อาจมีข้อเสนอพิเศษ เช่น ฟรีค่าธรรมเนียม หรือดอกเบี้ยต่ำในช่วงปีแรกหรือสามปีแรก เป็นต้น นอกจากนี้ควรโปะเพิ่มทุกเดือน จะช่วยลดระยะเวลาผ่อนลงได้มา

2. สินเชื่อรถยนต์

สำหรับสินเชื่อรถยนต์จะไม่เหมือนกับสินเชื่อบ้าน เพราะส่วนใหญ่จะใช้การคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fix Rate)

  • แนะนำให้เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยระหว่างไฟแนนซ์และสินเชื่อจากธนาคาร โดยส่วนใหญ่ธนาคารมักจะมีดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ควรเลือกอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด
  • วางเงินดาวน์สูงเพื่อลดภาระดอกเบี้ยและเลือกระยะเวลาผ่อนชำระให้สั้นที่สุดเท่าที่สามารถรับได้
  • หลีกเลี่ยงการเลือกสินเชื่อแบบบอลลูน (Balloon Payment) ที่ให้จ่ายค่างวดต่ำในช่วงแรกแต่จะมีค่าปิดบัญชีสูงในตอนท้าย ๆ
  • การโปะค่ายอดที่เหลือสำหรับรถยนต์ จะต้องปิดยอดทั้งหมดทีเดียว ไม่สามารถโปะเป็นงวด ๆ แบบสินเชื่อบ้านที่จะลดต้นลดดอกได้ ดังนั้นหากอยากปิดยอดรถยนต์มักทำในงวดสุดท้ายที่สามารถจัดการยอดทั้งหมดได้ เช่น หากระยะสินเชื่อทั้งหมด 60 เดือน เมื่อชำระมาจนถึงงวดที่ 50 แล้ว ยอดเหลือเท่าที่ตนสามารถจัดการปิดยอดได้ สมมติยอดเหลือ 100,000 บาท ก็สามารถปิดในงวดนั้นได้เลย เป็นอันจบสิ้นภาระหนี้รถยนต์ เป็นต้น

3. บัตรเครดิต

การเลือกกู้เงินหรือใช้วงเงินในบัตรเครดิต ควรเลือกบัตรที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองมากที่สุด มักมอบสิทธิพิเศษให้กับเจ้าของบัตรหากใช้งานบัตรกับกิจกรรมนั้น ๆ เช่น บัตรเครดิตสำหรับเติมน้ำมัน ก็จะให้เงินคืน (Cashback) กลับคืน ณ วันสรุปยอดหรือสามารถใช้แต้มในการ

เลือกซื้อสิ่งของที่ห้างสรรพสินค้าที่ร่วมรายการ หรือส่วนลดในการซื้อสินค้าเมื่อใช้บัตรเครดิตที่ร่วมรายการ เป็นต้น

  • การจ่ายเงินคืนบัตรเครดิต ไม่ควรจ่ายขั้นต่ำ เพราะจะทำให้ดอกเบี้ยสะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกลายเป็นหนี้พอกหางหมู
  • ใช้บัตรเครดิตให้เหมาะสมกับรายได้ของตนเอง และไม่ควรมีบัตรเครดิตหลายใบเกินไปจนเพราะจะทำให้ควบคุมหนี้ได้ยาก
  • ไม่แนะนำให้กดเงินสดออกมาใช้งาน หรือหากกดออกมาก็ให้รีบคืนตามกำหนด เพราะอัตราดอกเบี้ยที่กดเงินสดออกมาใช้งานจะสูงกว่าการใช้จ่ายผ่านบัตร หากผิดนัดชำระ
personal loan

วิธีลดดอกเบี้ยให้จ่ายน้อยที่สุด

  • การใช้จ่ายเงินกู้โดยปราศจากดอกเบี้ย มีเพียงวิธีเดียวคือการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและชำระเงินตรงตามรอบบิลที่กำหนด หากทำแบบนี้เจ้าของบัตรไม่ต้องจ่ายเงินค่าดอกเบี้ย ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องจ่ายเงินค่าบัตรเครดิตแบบเต็มจำนวน หรือภายใต้เงื่อนไขของบัตรเครดิตใบนั้น เช่น ผ่อนชำระ 3 เดือน 0% เป็นต้น
  • ชำระเงินเกินเสมอ หากผ่อนบ้าน แนะนำให้ชำระเงินค่างวดเกินกว่ายอดที่ธนาคารกำหนดให้ เพราะจะช่วยลดดอกเบี้ยสะสมลงได้ และไม่ควรจ่ายขั้นต่ำ เพราะจะทำให้ยอดหนี้ไม่ได้ลดลงเลย 
  • รีไฟแนนซ์เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง พิจารณาให้รีไฟแนนซ์เพื่อลดภาระดอกเบี้ย หรืออาจใช้วิธีรีไฟแนนซ์ทุก ๆ 3 ปี เพราะธนาคารส่วนใหญ่จะไม่คิดค่าธรรมเนียมและต้องการที่จะสร้างยอดเงินกู้ ซึ่งควรเปรียบเทียบกับธนาคารหลาย ๆ แห่งเพื่อเลือกธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยดีที่สุด
  • โปะหนี้เมื่อมีโอกาส หากมีเงินก้อนที่มากพอ ควรนำมาชำระหนี้เพิ่มเพื่อลดเงินต้นและดอกเบี้ย
  • หลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ เพราะหากจ่ายล่าช้านอกจากจะต้องเสียค่าปรับแล้วยังอาจถูกคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

การกู้เงินอย่างฉลาดไม่ได้หมายถึงการหลีกเลี่ยงหนี้ทั้งหมด หากแต่เป็นการใช้สินเชื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยมีภาระดอกเบี้ยต่ำที่สุด สิ่งสำคัญคือคุณจะต้องมีวินัยทางการเงินและศึกษาเงื่อนไขสินเชื่ออย่างรอบคอบ วางแผนการชำระคืนอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถปลดหนี้ได้เร็วขึ้นและไม่เป็นภาระทางการเงินในระยะยาว