โรคสมองเมา

แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศพม่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งส่งแรงสั่นสะเทือนเข้ามายังประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร จะสงบลงไปแล้ว แต่ผลกระทบยังคงอยู่กับผู้คนในหลายมิติ ไม่เพียงแต่ความเสียหายต่อโครงสร้างอาคารหรือทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบทางจิตใจและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมา โดยผลกระทบเหล่านี้อาจไม่ได้อยู่ในรูปของการบาดเจ็บ หรือมีแผลภายนอก หากแต่อยู่ในจิตใจของผู้รอดชีวิต

หนึ่งในภาวะที่กำลังได้รับความสนใจจากวงการแพทย์และจิตวิทยาคือ ‘โรคสมองเมา’ หรือที่ต่างประเทศเรียกกันว่า Earthquake Drunk ซึ่งเป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง ส่งผลให้สมอง , ระบบทรงตัว และความรู้สึกภายในร่างกายทำงานผิดเพี้ยนไปชั่วคราว จนอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างรุนแรงได้ บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักโรคสมองเมาแผ่นดินไหว พร้อมวิธีสังเกต การป้องกัน และการดูแลตัวเอง

1.โรคสมองเมาคืออะไร? (Earthquake Drunk)

โรคสมองเมา (ที่เกิดจากภาวะแผ่นดินไหว) หรือที่มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Post-Earthquake Dizziness Syndrome หรือในบางกรณีอาจจัดอยู่ในกลุ่มอาการ Mal de Débarquement Syndrome (MdDS) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนตัวเองยังอยู่ท่ามกลางการเคลื่อนไหวหรือแรงสั่นไหว หรือที่เรียกว่า จิชิน-โยอิ ในภาษาญี่ปุ่น โดยเกิดจากการรบกวนของระบบประสาทการทรงตัว (vestibular system) ซึ่งเป็นส่วนการควบคุมความสมดุลของร่างกาย ทำให้สมองยังคงรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนแม้สิ่งแวดล้อมจะกลับสู่ปกติ ซึ่งความผิดปกติของระบบทรงตัวส่วนใหญ่จะมีต้นกำเนิดมาจาก สมอง หรือหูชั้นใน

ภาวะนี้มีความคล้ายคลึงกับอาการเมาเรือหรือเวียนหัวจากหูชั้นในเสียสมดุล หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อของ ‘บ้านหมุน’ แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างคือ ผู้ป่วยไม่ได้สัมผัสกับการเดินทางทางน้ำหรือการเคลื่อนไหวแบบเดิม แต่เกิดจากการประสบกับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวและผลกระทบของแรงสั่นนั้นยังฝังอยู่ในระบบประสาทของร่างกาย

ระยะเวลาที่อาการทางร่างกายแสดงออกมาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล สำหรับบางคน ความรู้สึกเวียนศีรษะหรือโคลงเคลงจะค่อย ๆ ทุเลาลงภายในไม่กี่นาทีหรือชั่วโมง เมื่อร่างกายสามารถปรับสมดุลกลับมาได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เช่น แผ่นดินไหวโทโฮกุ ปี 2011 ที่ญี่ปุ่น (ขนาด 9.0 ริกเตอร์) เผยว่า ผู้ประสบภัยบางส่วนยังคงเผชิญกับปัญหาเรื่องการทรงตัวอย่างต่อเนื่องนานเป็นสัปดาห์หรือแม้กระทั่งหลายเดือน การศึกษาในพื้นที่พบว่าผู้ป่วยเกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขายังคงรู้สึกโคลงเคลงคล้ายกำลังถูกเคลื่อนไหวทั้งที่อยู่ในสภาพแวดล้อมปกติ เป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลายสัปดาห์หลังจากแผ่นดินไหว

EQ1

2. สาเหตุของโรคสมองเมา

โรคสมองเมาอาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยมีปัจจัยหลักดังนี้

1. ความผิดปกติของระบบทรงตัวในหูชั้นใน (Vestibular System)

แรงสั่นสะเทือนต่อเนื่องระหว่างแผ่นดินไหวทำให้หูชั้นในที่มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัวส่งสัญญาณผิดเพี้ยนไปยังสมองแม้เมื่อเหตุการณ์หยุดแล้ว ระบบสมดุลยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ในทันที

2. การตอบสนองของสมองต่อแรงกระตุ้นที่รุนแรง
สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้การเคลื่อนไหว เช่น cerebellum และระบบประสาทอัตโนมัติ อาจเกิด ‘ภาวะลวง’ ว่ายังมีการเคลื่อนไหวอยู่ ทำให้รู้สึกเหมือนพื้นยังสั่น หรือร่างกายยังโคลงเคลง

3. ความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD)

ผู้ที่ผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงมักเกิดภาวะเครียดเรื้อรังหรือหวาดระแวง ทำให้สมองตอบสนองเกินจริงต่อสิ่งเร้าเล็กน้อย เช่น รถวิ่งผ่าน หรือเสียงสั่นของลิฟต์

4. การเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่อง

เป็นไปได้ว่าสมองอาจจดจำการสั่นสะเทือนเพิ่มขึ้น เนื่องเพราะหลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวมักจะมีภาวะอาฟเตอร์ช็อก เกิดขึ้นซ้ำ

EQ3

3. อาการของโรคสมองเมา

อาการของโรคสมองเมาอาจหลากหลายและไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ได้แก่

  1. รู้สึกเหมือนพื้นยังสั่น หรือมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
  2. เดินไม่ตรง โคลงเคลง เหมือนเมา
  3. เวียนศีรษะ คลื่นไส้ โดยไม่มีโรคทางหูหรือโรคประสาทอื่น ๆ
  4. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  5. สมาธิสั้น หรือจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ยาก
  6. มีอาการวิตกกังวล หงุดหงิดง่าย
  7. หลับยาก ฝันร้าย หรือสะดุ้งตื่นกลางดึก
  8. บางรายอาจมีอาการต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ หรือยาวนานถึงหลายเดือน หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง

อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นทันทีหลังเหตุการณ์ หรือภายในไม่กี่วันหลังแผ่นดินไหว และมักหายได้เองในระยะเวลาสั้น ๆ แต่บางรายอาจมีอาการต่อเนื่องนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์

4. ผลกระทบของโรคสมองเมาต่อชีวิตประจำวัน

โรคสมองเมาอาจดูเหมือนไม่รุนแรงในแง่ของสภาพร่างกาย แต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต อย่างมีนัยสำคัญ เช่น

  1. เสียสมาธิในการทำงานหรือเรียนหนังสือ เนื่องจากอาการมึนหัวหรือง่วงตลอดเวลา
  2. หลีกเลี่ยงการขึ้นลิฟต์ เดินทาง หรือเข้าอาคารสูง เพราะกลัวว่าจะเกิดแผ่นดินไหวซ้ำ
  3. ปัญหาทางจิตใจ เช่น วิตกกังวลเรื้อรัง ซึมเศร้า หรือกลัวที่แคบ
  4. กระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะคนรอบข้างไม่เข้าใจอาการ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกโดดเดี่ยว
EQ2

5. วิธีสังเกตโรคสมองเมา


คุณสามารถสังเกตตัวเองหรือคนใกล้ตัวได้โดยใช้คำถามง่าย ๆ ดังนี้

  1. หลังแผ่นดินไหวผ่านไปแล้ว ยังรู้สึกว่าพื้นสั่นหรือไม่?
  2. เวลานั่งเฉย ๆ ยังรู้สึกโคลงเคลง? 
  3. เดินแล้วรู้สึกเหมือนตัวเบา หรือไม่มั่นคง?
  4. รู้สึกเหนื่อยง่าย ไม่มีแรง ทั้งที่นอนเพียงพอ?
  5. รู้สึกกลัวหรือระแวงว่าจะเกิดแผ่นดินไหวอีก?

หากคำตอบ ใช่ มากกว่า 3 ข้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์ เพื่อประเมินภาวะสมองเมาหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว

6. วิธีป้องกันโรคสมองเมา

แม้ว่าแผ่นดินไหวจะเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองเมาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

1. ดูแลสุขภาพหูชั้นใน

หมั่นออกกำลังกายแบบเบา ๆ เช่น เดินเร็ว หรือโยคะ เพื่อช่วยกระตุ้นระบบทรงตัว

2. ปรับสภาพจิตใจหลังเหตุการณ์ 

ฝึกสมาธิ นั่งเงียบ ๆ หรือฝึกหายใจเข้า-ออกอย่างช้า ๆ ทุกวัน เพื่อลดความตึงเครียดที่สมองสะสมไว้

3. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

หากมีอาการเวียนหัว หรือรู้สึกไม่มั่นคงต่อเนื่องเกิน 7 วัน ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หู คอ จมูก หรือจิตแพทย์

4. ฝึกสมองและการทรงตัวด้วยกิจกรรมเฉพาะทาง

การฝึกสมดุล เช่น การยืนขาเดียว ปั่นจักรยาน หรือทำกายภาพบำบัด จะช่วยให้สมองเรียนรู้ใหม่ได้เร็วขึ้น

แม้แผ่นดินไหวจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ภาวะโรคสมองเมา หรือ Earthquake Drunk ยังคงเป็นผลกระทบที่มองไม่เห็นและอาจฝังอยู่ในระบบประสาทของผู้รอดชีวิตเป็นเวลานาน การเข้าใจและรับมือกับภาวะนี้อย่างถูกต้องไม่เพียงช่วยฟื้นฟูสุขภาพกายและใจของผู้ได้รับผลกระทบ แต่ยังช่วยให้สังคมพร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ อย่าลังเลที่จะขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

บทความ โรคเรื้อรังที่พบบ่อยในยุคปัจจุบันเกิดจากอะไร และ ป้องกันอย่างไร